วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จาก ‘อดีต’ สู่ ‘ปัจจุบัน’…!! “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” แห่งเมืองร้อยเอ็ด ที่แม้นานแค่ไหน ก็ยังคงตราตรึงใจ ชาวร้อยเอ็ดมิรู้ลืม (รายละเอียด)



  • จาก ‘อดีต’ สู่ ‘ปัจจุบัน’…!! “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” แห่งเมืองร้อยเอ็ด ที่แม้นานแค่ไหน ก็ยังคงตราตรึงใจ ชาวร้อยเอ็ดมิรู้ลืม (รายละเอียด)




  • พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ตั้งอยู่บริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางจากตัวเมืองร้อยเอ็ดประมาณ80 ก.ม มีลักษณะเป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่วิจิตรพิสดาร ใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสานเป็นการผสมกันระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม ใช้งบประมาณก่อสร้างถึงปัจจุบันกว่า 3,000 ล้านบาท ดำเนินการสร้างโดย “พระอาจารย์ศรี มหาวิโร” ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นสีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศสร้าง ในเนื้อที่ 101 ไร่ กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร รวมยอดทองคำเป็น 109เมตร ใช้ทอง คำหนัก 4,750 บาท หรือประมาณ 60 กิโลกรัม ภายในองค์พระมหาเจดีย์เหมือน อยู่บนวิมานแดนสวรรค์
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล นั้นได้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2528 มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ เนื่องด้วยในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นวันรวมกฐินสามัคคีของวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ได้ปรารภกับที่ประชุมสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ว่าท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาเป็นกรณีพิเศษ แต่ยังไม่มีที่ประดิษฐานอันเหมาะสม น่าจะหาสถานที่ก่อสร้างพระมหาเจดีย์ไว้สำหรับเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอยให้จัดสร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นที่เทือกเขาเขียว บริเวณใกล้กับวัดถ้ำผาน้ำทิพย์ (วัดผาน้ำย้อย)


  • ครั้นต่อมาเมื่อมีการประชุมพระสังฆาธิการภาค 8-9-10-11 (ฝ่ายธรรมยุต) ที่วัดถ้ำผาน้ำทิพย์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) เป็นประธานที่ประชุมได้มีมติให้หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นผู้นำในการก่อสร้าง และได้ให้ใช้ชื่อว่าพระมหาเจดีย์ชัยมงคล โดยทุนเริ่มแรกที่ใช้ในการเริ่มก่อสร้างได้มาจากการจัดให้มีการทอดผ้าป่าทั่วภาคอีสาน 19 จังหวัด โดยการจัดในครั้งแรกนี้ได้จัดผ้าป่า เป็นจำนวน 84,000 กอง กองละ 1,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 84 ล้านบาท เป็นทุนเริ่มต้นและได้จัดให้มีการทอดผ้าป่า เป็นประเพณีตลอดมาอีกทุกๆ ปี
  • พระมหาเจดีย์ชัยมงคลได้ออกแบบก่อสร้างโดยกรมศิลปากร เป็นศิลปะผสมผสานของศิลปะแบบอีสาน และศิลปะแบบไทยภาคกลาง เริ่มก่อสร้างวางศิลาฤกษ์และลงเสาเอกเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2531 เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างในส่วนต่างๆ แล้วเสร็จใน วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ได้จัดให้มีการทำพิธียกยอดฉัตรที่สร้างด้วยทองคำ น้ำหนักรวม 60 กิโลกรัม
  • ต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่หลวงปู่ได้รับมาเป็นกรณีพิเศษ และองค์ที่หลวงปู่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกา รวทั้ง องค์ที่สมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกาได้อัญเชิญเสด็จมาส่งให้ด้วยพระองค์เอง อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ชัยมงคลบนชั้นที่ 6 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้สักการะนมัสการเป็นสิริมงคลของตนตลอดไป
  • เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า วัดเจดีย์ชัยมงคล
  • เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2548 ได้มีการแต่ตั้งให้พระครูปลัดทองอินทร์ (หลวงพ่ออินทร์ กตปุญโญ) เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ชัยมงคล
  • เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 123 ตอนที่ 44 วันที่ 27 เมษายน 2549
วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง
เพื่อเป็นศูนย์กลางของการฝึกอบรมการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน โดยการปฏิบัติจริงตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นที่ตั้งของรูปเหมือนแกะสลักด้วยหินของพระเถรานุเถระของภาคอีสาน จำนวน 101 องค์ พร้อมทั้งประวัติของท่าน และภาพพุทธประวัติ ภาพทศชาติชาดก

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในบริเวณวัดเจดีย์ชัยมงคล
  • 1. กำแพงแห่งศรัทธา ซึ่งหลวงพ่ออินทร์เป็นผู้นำคณะศิษยานุศิษย์ทำการก่อสร้างถวายบูชาคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร เริ่มก่อสร้างวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 แล้วเสร็จน้อมถวายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตัวกำแพงสูง 5 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 3,500 เมตร ชั้นบนเดินชมวิวได้โดยรอบ ชั้นล่างเป็นที่ปฏิบัติธรรม มีห้องน้ำ 1,000 ห้อง
  • 2. เจดีย์บรมพุทโธ (บูโรบูโด) จำลอง ซึ่งชาวพุทธจากประเทศอินโดนีเซีย จัดสร้างและส่งทีมงานช่างมาติดตั้งถวายเป็นพุทธบูชา
  • 3. ตำหนักรับรองสมเด็จพระสังฆราช
  • 4. กุฏิรับรองหลวงปู่ศรี มหาวีโร
  • 5. โรงทานขนาดใหญ่ 3 หลัง
ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ
  • ชั้นที่ 1เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โออ่า ใช้เป็นห้องเอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ
  • ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ
  • ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถ และประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูป เหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์
  • ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ชมทัศนียภาพรอบภูเขาเขียว
  • ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ศรี มหาวีโร (กำลังอยู่ในระหว่างรวบรวม)
  • ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
  • ความเชื่อและวิธีการบูชา พระมหาเจดีย์ชัยมงคลจะยังเป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ มีพิพิธภัณฑ์วิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ศรี และเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ในอดีตทั้ง 101 องค์ รวมทั้งพระสารีริกธาตุ ซึ่งอยู่ชั้นบนสุด ให้ประชาชนทุกสารทิศได้มาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.00 น.

การเดินทาง ไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 90 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136



ภาพเก่าพระมหาเจดีย์ชัยมงคล เมื่อปี 2539




เพิ่มคำอธิบายภาพ


ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย 

ที่มาภาพ : ภาพเก่า เครดิต ประสิทธิ์ พลศรีเมือง นายกอบต.บึงงาม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น