วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

สภาวธรรมที่เป็นนามธรรมนะ


สภาวธรรมที่เป็นนามธรรมนะ
ฟังเหมือนว่านามธรรมดูยาก
แต่จริงๆ รู้สึกง่าย เราไม่ได้ดูด้วยตานี่
นามธรรมดูด้วยตาไม่ได้ มันรู้ด้วยใจ
งั้นเรารู้สึกเอา
งั้นจิตใจเราเป็นสุข ก็รู้สึก
มันรู้สึกสุข เราก็รู้ทัน
จิตใจรู้สึกทุกข์ เราก็รู้ทัน
จิตใจรู้สึกโลภ รู้สึกโกรธ รู้สึกหลง เราก็รู้ทัน
หัดรู้สภาวะอย่างเนี้ย บ่อยๆ
คนไหนมีสภาวะอะไรที่เกิดบ่อยนะ
ใช้ตัวนั้นเป็นหลัก
เรียกว่าใช้เป็นฐานของสติ เป็นฐานเพื่อฝึกสติ
เป็นสติปัฏฐาน เป็นฐานที่ตั้งของสติ
คนไหนขี้โกรธนะ เราก็ดู
ความโกรธผุดขึ้นมา เราก็รู้ทัน
มันผุดตรงไหน ดูออกมั้ย..?
ความโกรธผุดขึ้นตรงไหน..? มันผุดขึ้นกลางอก
ในฝ่ายปริยัติเค้าบอก ผุดขึ้นมาจากหทัยยะ
หทัยยะเนี่ย มันแปลได้อีกอย่างหนึ่งก็ หัวใจ
บางคนเลยรู้สึกว่า
ความรู้สึกเนี่ย ผุดขึ้นที่หัวใจ
นี่คิดมาจากภาษา ไม่ได้คิดจากนักปฏิบัติ
ความรู้สึกไม่ได้โผล่มาจากหัวใจ
ต่อไปผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
ความรู้สึกก็ต้องเปลี่ยนหมดแล้ว
แล้วบอก หัวใจมีน้ำเลี้ยงหัวใจสีนั้นสีนี้
จินตนาการเอา เรื่องของจินตนาการแล้ว
พยายามเพิ่มสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนนะ
เพื่อจะสู้กับศาสนาอื่น ให้ดูลึกลับ ดูลึกซึ้งมาก
พอแปลหทัยยะว่าหัวใจนะ
เลยคิดว่ามันอยู่ที่หัวใจ
ความโกรธเนี่ย น้ำเลี้ยงหัวใจสีนี้
เวลาโลภ น้ำเลี้ยงหัวใจสีนี้
ดูพื้นฐานแล้วนะ ถ้าน้ำเลี้ยงหัวใจสีนี้นะ
พื้นฐานจิตเป็นคนอย่างนี้
พยายามแปลงนามธรรมให้มันเป็นรูปธรรม
อย่างไม่สามารถดูความรู้สึกของคนอื่นตรงๆได้
อาศัยดูผ่านกสิณ ดูสี ดูอะไรไป
เทียบเคียง สังเกตเอาว่า คนพื้นจิตอย่างนี้
รัศมีของจิตมันสี อย่างนี้ๆนะ
สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้
ไม่เคยเจอนะ หรืออาจจะมีก็ได้ แต่ว่าไม่เคยเห็น
ต้องใช้คำนี้ หลวงพ่อไม่ได้แตกฉานปริยัติ
ถึงขนาดจะตอบได้
.
"...แต่ที่เราปฏิบัติ เราเห็นเลย
ความรู้สึกเนี่ย ผุดขึ้นมาจากกลาง กลาง
คำว่าหทัยยะ แปลว่าใจ
หลวงปู่เทสก์ ท่านแปลดีนะ
ใจ ท่านไม่ได้แปลว่าหัวใจ
ท่านแปลคำว่าใจ แปลว่า"กลาง"
รู้จักคำว่าใจกลางมั้ย
ท่านบอกภาษาโบราณเลยนะ
กลางฝ่ามือเนี่ย เค้าเรียก ใจมือ
งาช้างเนี่ย มันก็มีใจงา ตรงกลางมัน
อะไรที่กลางเนี่ย เค้าเรียกใจ
สังเกตดู
ความรู้สึกมันผุดขึ้นมาจากตรงกลางๆ
ถามว่า ผุดขึ้นกลางอก
อันนั้นก็โดยความรู้สึกเปรียบเทียบว่า
มันขึ้นจากตรงเนี้ย
แต่เวลาเราภาวนาบางครั้งนะ
ร่างกายหายไปเลย(เข้าอรูปฌาน) ไม่มีอกหรอก
เพราะไม่มีร่างกาย แต่ความรู้สึกผุดขึ้นมา
เราก็จะรู้สึกว่า มันผุดขึ้นมาจากกลางๆนั่นแหละ
นี้พอมันมีร่างกายเคยชิน
กลางๆนั้น กลางหน้าอกขึ้นมา มันความรู้สึก
งั้นเวลาเราหัดดูสภาวะของนามธรรมนะ
ความสุข ความทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
อะไรนี้ มันผุดขึ้นมาจากกลาง
ถ้ามันโกรธมากนะ มันขึ้นถึงหน้าเลย นึกออกมั้ย
เค้าเรียก เลือดขึ้นหน้า
เวลาราคะแรงๆ ก็ขึ้นหน้าเหมือนกัน ใช่มั้ย
เรียกหน้ามืด หมูหมากาไก่กูจะปล้ำหมดแหละ หน้ามืด
.
ตอนที่หลวงพ่อภาวนานะ
หลวงพ่อเห็น(ความรู้สึก)มันผุดขึ้นจากตรงกลาง
เลยคิดนะว่าจิตนะอยู่ตรงนี้แหละ
เนี่ยมันผุดขึ้นมา
เลยถามหลวงปู่ดูลย์
"หลวงปู่ครับ จิตอยู่ที่ไหน..?
เรามีคำตอบในใจเราแล้ว อยู่ที่กลาง
หลวงปู่บอก "จิตไม่มีที่ตั้ง"
ฟังแล้วงงกว่าเก่าอีก
.
... ภาวนาไปถึงเข้าใจ
จิตไม่ได้มีที่ตั้ง
จิตเกิดที่ตาบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจบ้าง
มันเกิดอยู่ที่ไหน มันก็ดับอยู่ที่นั้น
ไม่เห็นมันจะตั้งอยู่ตรงไหนนานเลยนะ
เกิดอยู่ชั่วขณะเดียวก็ดับไปแล้ว
มันไม่ได้ตั้งอยู่ที่ไหน
จิตมันอาศัยเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ(อายตนะ)
แล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป
ตอน(หลวงพ่อ)หัดภาวนาใหม่ๆนะ
หลวงปู่สั่งให้ดูจิต
หลวงพ่อ(สงสัยว่า) จิตมันอยู่ที่ไหน
ถ้าโดยนิยามของคำว่าจิตนะ
มันคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์
เราก็รู้สึกว่าจิตอยู่ข้างบน
แต่พอพระพุทธเจ้าสอนบอก ให้รู้ทุกข์
(รู้สึกว่า) ทุกข์อยู่ที่กลางอก
แล้วจะดูจิตที่เป็นคนดูอยู่ข้างบนนี้
จิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดู
เวลาที่จิตมันถอนตัวออกจากอารมณ์ รู้สึกมั้ย
มันคล้ายๆ มันยกขึ้นมาอยู่เหนืออารมณ์
แล้วคิดว่า ถ้าดูจิตแล้วต้องประคองตัวนี้ไว้
ไปหัดประคอง
หลวงปู่บอก.. ผิด
ทำผิดอีกแล้ว ไปแทรกแซงอาการของจิต
ไปรักษาจิตไว้
ดูตัวผู้รู้นี้ไม่ได้
พอดูตัวผู้รู้นะ มันจะเกิดตัวผู้รู้ซ้อนไปเรื่อยๆ
เกิดจิตซ้อนจิตไปไม่มีที่สิ้นสุด
เรียกว่า วิญญาณเป็นอนันต์ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย
.
อ่านพระไตรปิฎกนะ
พระพุทธเจ้าบอกให้รู้ทุกข์
เอ้..ทุกข์ มันผุดขึ้นกลางอก
งั้นเราต้องเฝ้าอยู่กลางอก
แต่ทำไมหลวงปู่ดูลย์สอนขัดกับพระพุทธเจ้า
หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต เราก็นึกว่าดูผู้ดู
พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์ ทุกข์นี่มันถูกดู
มันจะดูอะไรแน่
ขยับจะถามหลวงปู่ดูลย์นะ เดี๋ยวเอาไว้ดูก่อน
ถ้ามีปัญหาทุกเรื่อง แล้วถามอาจารย์ทุกเรื่องนะ
รู้สึกว่า เหลวไหลเกินไป จะลองสังเกตดูก่อน
นี้สังเกตนานไปหน่อย
หลวงปู่ดูลย์มรณภาพไปแล้ว
ไปเรียนกับหลวงปู่เทสก์
ไปเรียนกับหลวงปู่เทสก์นะ ขยับจะถามหลวงปู่เทสก์
เอาไว้ดูอีกหน่อยหนึ่ง จนหลวงปู่เทสก์สิ้นไปอีกนะ
จะถามหลวงปู่สิม จนหลวงปู่สิมก็สิ้นไป ไม่ได้ถาม
สงสัยมากเลย
จะให้ดูที่ตัวจิตผู้รู้
หรือจะดูความรู้สึกที่มันผุดขึ้นมา(จากกลางอก)
ตัวทุกข์มันผุดขึ้นกลางอก
ใครเคยสงสัยอย่างนี้บ้างมั้ย..?
เคยเหมือนกันเน๊าะ ..เออ เข้าท่า ..ดี
แต่สงสัยแล้วมันค้นคว้านะ ค้นคว้า
พยายามสังเกตเอา
พระพุทธเจ้าต้องสอนไม่ผิดน่ะ
แต่หลวงปู่ดูลย์ก็ไม่น่าจะผิด
สิ่งที่ผิด คือความเข้าใจของเรา เราต้องเข้าใจอะไรผิด
เนี่ยหลวงพ่อไม่คิดปรามาสว่า ครูบาอาจารย์ผิดนะ
แต่คิดว่าเราต้องมีอะไรผิด
เพราะเราดูออกว่า ครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา
ดูสะอาดหมดจดมากเลย ไอ้ที่มอมแมมคือเรา
.
สังเกตอยู่นานนะ
จนกระทั่งครูบาอาจารย์สิ้นไปหมดแล้ว
แล้วค่อยมาเห็นนะ
"... ตัวนี้ไม่ใช่จิต
ตัวนี้คือตัวสังขารนะ มันปรุง
ตัววัฏฏะมันหมุนอยู่ที่นี่ วัฏฏะมันหมุนอยู่"
... ส่วนตัวจิตไปดูตรงๆไม่ได้
ถ้าดูไป มันสลายตัวไปทันทีเลย
แล้วมันเกิดตัวรู้ใหม่ขึ้นมาทันที่ วิญญาณเป็นอนันต์
งั้นเราไม่ได้ดูทั้งตัวบน
ไม่ดูทั้งตัวล่างหรอก
แต่สติระลึกรู้อะไรนะ
ก็เห็นสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ เหมือนกันหมดเลย
รู้ตรงนี้ก็เห็นตรงนี้เกิดดับ
รู้จิตผู้รู้ ก็เห็นจิตผู้รู้เกิดดับ
ตัวจิตแท้ๆเนี่ย
โดยตัวของมันเองนะ ไม่มีร่องรอย
มันเป็นความรับรู้เท่านั้นเอง
ไม่มีรูปร่าง ไม่มีแสงสี ไม่มีเสียง
ไม่มีอะไรที่เราจะจับได้เลย
อย่าไปดูจิตมีสีนั้นสีนี้
พวกนี้ไม่รู้จักจิต
ไปหลงรัศมีของจิตว่าเป็นจิตแล้ว
ว่ามีสีอย่างโน้นสีอย่างนี้
จิตมีรัศมี มีแสง แต่แสงไม่ใช่จิต
อย่างเวลาที่เราภาวนาแล้วผ่องใส
รู้สึกจิตสว่างไสว รู้สึกสว่าง สว่างไม่ใช่จิต
จิตคือคนที่ไปรู้ว่าสว่าง
งั้นจิตไม่มีร่องรอยให้เราจับเลย
แต่เราสามารถเห็นจิตเกิดดับเปลี่ยนแปลงได้เนี่ย
เพราะสิ่งที่มาประกอบจิต ที่เรียกว่า เจตสิก
คือจิตดวงหนึ่งสุข จิตดวงหนึ่งทุกข์
จิต ๒ ดวงนี้ไม่เหมือนกัน
จิตดวงหนึ่งดีนะ ไม่โลภ จิตดวงหนึ่งโลภ อะไรอย่างนี้
จิตดวงหนึ่งโกรธ จิตดวงหนึ่งไม่โกรธ
จิตดวงหนึ่งหลง จิตดวงหนึ่งรู้สึก
จิตดวงหนึ่งฟุ้งซ่าน จิตดวงหนึ่งหดหู่
สิ่งที่มาประกอบจิตนั้น
ทำให้เราเห็นจิตนั้นมีความแตกต่าง
เราก็เลยรู้ว่า จิตนั้นเกิดดับ
แท้จริงจิตกับเจตสิก เกิดดับพร้อมกัน
เกิดด้วยกันดับด้วยกัน
มีอารมณ์อันเดียวกัน เกิดดับไปด้วยกัน
งั้นเราดูตัวจิตซึ่งไร้ร่องรอยนี้ ไม่เห็น
แต่ร่องรอยของเจตสิก ของความรู้สึกต่างๆ เราเห็นได้
อย่างความโกรธ รู้สึกมั้ย มีแรงดันขึ้นมาได้
ความโลภ รู้สึกมั้ย มันหิวโหย
มันหิวโหย แค่อยากพูดเนี่ย มันก็โลภแล้ว
ใจจะดิ้นขลุกขลักๆ มันมีสภาวะให้เราเห็น
ความโลภไม่เกิดลอยๆ ต้องเกิดกับจิต
งั้นจิตดวงที่มีความโลภ
มันเป็นจิตที่มีความโลภ เนี่ยโลภมูลจิต
จิตมันมีโลภะเป็นมูล เป็นรากฐาน
ความโกรธก็ไม่เกิดลอยๆ
ต้องเกิดกับจิต จิตดวงที่มีความโกรธเนี่ย โทสมูลจิต
จิตที่เกิดจากโทสะเป็นมูล เป็นฐาน
.
งั้นการที่เราหัดรู้สภาวะเนี่ย
ความสุขเป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้
โลภ โกรธ หลง เป็นอย่างนี้นะ
"... หัดรู้สภาวะที่เกิดดับนะ
ต่อไปมันจะเข้าใจว่า จิตนั้นแหละเกิด-ดับ"
.
ตอนที่หลวงพ่อหัดดู
หลวงพ่อก็เห็น ความโกรธเกิดแล้วดับ
ความโลภเกิดแล้วดับนะ
แต่ใจเราเป็นคนดู ไม่ถลำลงไป
ที่ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไร
ความสุข ความทุกข์ ใจไม่ไหลเข้าไป
ใจเป็นคนดูสบายๆอยู่
เนี่ยเห็นทุกอย่าง เกิดแล้วดับ ๆ ๆ
เวลาที่ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นนะ
มันเข้าใจรวบยอด มันไม่ได้เข้าใจว่า
ความโกรธเกิดแล้วดับ หรือจิตโกรธเกิดแล้วดับ
ไม่ได้เข้าใจว่าความโลภเกิดแล้วดับ
หรือว่าจิตโลภเกิดแล้วดับ
*** มันเข้าใจรวบยอด จิตทั้งหมดแหละเกิดแล้วดับ
"... จิตทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา"
งั้นเวลาความเข้าใจเกิด
มันเป็นความเข้าใจรวบยอด
ไม่ใช่เข้าใจทีละชิ้นเล็กๆ เหมือนต่อจิกซอ
ต่อจิซอไปนะ ตอนนี้โกรธแล้วก็ดับ
โลภแล้วก็ดับ อะไรอย่างนี้ ต่อทุกวัน
ต่อ ต่อ ต่อไป จนวันหนึ่งมันปิ๊งขึ้นมาเลย
ทั้งหมดนั้นแหละ เกิดแล้วดับ
ทั้งหมดแหละไม่ใช่ตัวเรา
_/|\_ _/|\_ _/|\_
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
วัดสวนสันติธรรม 12 กุมภาพันธ์ 2560
CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ 69
File: 600212A
พระธรรมเทศนาระหว่างนาที 9:03--22:36
ดาวน์โหลดไฟล์เสียงธรรมะได้ที่
Dhamma.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น