วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

หัดดูสภาวะที่เป็นนามธรรม

หัดดูสภาวะที่เป็นนามธรรม
นามธรรมที่เราเห็นง่ายนะ
ก็คือ ความสุข ความทุกข์(เวทนา)
แต่ความสุข ความทุกข์ มันเกิดได้ ๒ ที่
เกิดที่กายกับที่ใจ
งั้นเราคอยสังเกต
ถนัดที่จะรู้ที่กาย ก็รู้กาย
ถนัดที่จะรู้ที่ใจ ก็รู้ที่ใจ
อย่างหลวงพ่อถนัดที่จะรู้ใจนะ
หลวงปู่ดูลย์ ท่านรู้จริต
เจอท่านวันแรกนะ ท่านก็สอนให้ดูจิตเลย
เพราะว่าถูกกับจริต
คนเจ้าความคิดเจ้าความเห็น คนเมืองนะ
คนในเมือง ทำงานก็ใช้ความคิดตลอดเนี่ย
มันถนัดที่จะดูจิตมากกว่าดูกาย
งั้นหลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อนะ
แต่ก่อนจะสอนนะ
ท่านหลับตาสอบประวัติเราไปเกือบชั่วโมง
หลับตานิ่งๆ เรานึกว่าท่านนั่งหลับไปแล้วด้วยซ้ำ
ลืมตาขึ้นมานะท่านสอนเลย
"การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ
อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง"
... ถ้าอ่านจิตตนเองได้ก็จะเห็นเลย
จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย
ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ"
ท่านสอน ให้ไปดูเอา
เราก็มาดูจิตใจของตัวเอง
.
การดูจิตนั้นไม่ใช่ดูจิต
บางคนบอก ดูจิตคือไปดูตัวจิตตรงๆ
จิตตรงๆ ไม่มีอะไรให้ดูหรอกนะ
จิตโดยตัวของมันเองไม่มีรูปร่าง
ไม่มีร่องรอยอะไรเลย
มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์
งั้นเราไปดูจิตตรงๆ จะไม่เห็นอะไรเลย
หลวงปู่ดูลย์บอก
ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ
ท่านสอนอย่างนี้
.
งั้นเวลาเราดูจิต
เราดูผ่านสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิต
เค้าเรียกว่าเจตสิก
อย่างตัวความสุข ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับใจเรา
อย่างใจเราขณะนี้สุข หรือใจเราขณะนี้ทุกข์ เรารู้ได้มั้ย
อย่างเนี้ยเรารู้ได้
จะดูจิตเกิดดับเนี่ย
จะดูไม่ได้ ไม่เห็น
แต่ว่าสภาวะสุข-ทุกข์-ดี-ชั่ว
ที่เรียกว่าเจตสิกนั้นนะ มันไม่ได้เกิดลอยๆ
มันเกิดร่วมกับจิต
มันเกิดพร้อมกับจิต มันดับพร้อมกับจิต
มันมีอารมณ์อันเดียวกับจิต
งั้นเวลาที่เราจะดูจิตนั้น
ดูยังไงก็ไม่เห็น เราดูผ่านความเกิดดับของเจตสิก
อย่างเราเห็นความโกรธมันผุดขึ้นมา
มันผุดขึ้นกลางหน้าอกนะ
พอมันผุดขึ้นมาปุ๊บเนี่ย เราเห็นนะขณะนั้นจิตโกรธ
แต่พอเรารู้ทันว่าความโกรธผุดขึ้น
ขณะที่รู้ทันนั้นน่ะไม่ใช่จิตโกรธแล้ว
โทสมูลจิต/จิตโกรธตัวนั้นดับไปแล้ว
มันเกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน จิตรู้ตัวนี้เป็นจิตที่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นโกรธเนี่ย
ขณะที่โกรธปุ๊บขึ้นมา
ยังไม่ทันรู้ตัวว่าโกรธเนี่ย ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล
แต่พอโกรธแล้วรู้ว่ากำลังโกรธอยู่นะ
เห็นจิตมันกำลังโกรธขึ้นมาอยู่เนี่ย
อันนั้นแหละจิตเป็นกุศลแล้ว
.
ไม่ต้องตกใจ
เพราะฉะนั้นจิตจะโกรธบ่อยๆ
ก็ไม่ต้องไปตกใจนะ
จิตโกรธบ่อยน่ะดี (ให้รู้)อย่าให้จิตโกรธนาน
ถ้าจิตโกรธนาน หมายถึงว่า
"จิตจมกับอารมณ์ความโกรธนะ จิตเป็นอกุศลนาน"
แต่ถ้าจิตมันโกรธปุ๊บ เรามีสติรู้ทันปั๊บเนี่ย
เราก็จะเห็นเลยว่า จิตเมื่อกี้โกรธ จิตตรงนี้ไม่โกรธ
(เราก็จะเห็น)จิตนั้นมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
อย่างคนไหนขี้โลภ
เจออะไรก็อยากได้ไปหมดเลย ชอบไปหมด
เห็นอันโน้นก็อยากได้ เห็นอันนี้ก็อยากได้นะ
ไม่รู้จะอยากไปทำอะไร
พอใจมันโลภขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน
พอใจมันโลภ เรามีสติรู้ทัน
เราก็จะเห็น ตอนที่ขณะโลภนั้นน่ะ จิตเป็นอกุศล
เรียกว่า โลภมูลจิต/จิตซึ่งมีโลภะเป็นรากฐานเป็นมูล
โลภมูลจิตเกิดขึ้นมา พอเรามีสติปุ๊บ
ในขณะที่มีสติรู้ทันว่ามีโลภะ
จิตที่มีโลภะดับไปแล้วเกิดจิตดวงใหม่
ซึ่งมีสติขึ้นมารู้ทันว่า จิตตะกี้นี้มีโลภะ
จิตดวงนี้เป็นกุศลนะ
ค่อยๆฝึก ค่อยๆรู้ ค่อยๆดูไป
อย่าไปตกใจว่ากิเลสเยอะ
ถ้าเราเห็นกิเลสเกิดบ่อยน่ะ
"แสดงว่า สติเกิดบ่อย"
ถ้าเราเห็นกิเลสเกิดทั้งวันเลย
เหมือนเดิมเปี๊ยบเลยนะ
แล้วไม่รู้ตัวว่าโกรธเนี่ย ไม่รู้ตัวว่าโลภเนี่ย
อันนั้นเรียกว่าไม่มีสติ "จิตเป็นอกุศลยาว"
อกุศลมันเกิดซ้ำๆๆๆอยู่อย่างนั้น
ที่จริง จิตที่เป็นอกุศลก็เกิดดับทีละขณะ
เหมือนกับจิตที่เป็นกุศลนั่นเอง
แต่ว่ามันเกิดซ้ำยาวเลย
มันก็เลยเหมือนคนทั่วๆไปเวลาโกรธ
มันรู้สึกโกรธนาน
แต่เรานักปฏิบัติเนี่ย
พอโกรธขึ้นมาปุ๊บ เรารู้ทันปั๊บนะ
ขณะที่รู้นั้นไม่ได้โกรธแล้ว เป็นจิตคนละดวงแล้ว
ดวงหนึ่งเป็นอกุศลคือโกรธ
ดวงหนึ่งเป็นกุศลคือรู้/มีสติขึ้นมา
นี้เราฝึกไปเรื่อย
ไม่ได้ฝึกว่าห้ามโกรธ ห้ามโลภ
โกรธแล้วรู้ โลภแล้วรู้ เราก็จะเห็นเลย
จิตนั้นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
จิตอกุศล เกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เป็นกุศล เกิดแล้วก็ดับ
.
หลวงพ่อดูจิตเนี่ย
แรกๆ ดู(จิตที่มี)โทสะ เพราะเป็นคนขี้โมโห
ทีแรกก็เห็นโทสะแรงๆก่อน
ต่อมา(เห็น)โทสะที่ละเอียดขึ้นนะ
แค่ขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว
อย่างเรานั่งอยู่ในห้องมืดๆอย่างเนี้ย
เราออกไปข้างนอกห้อง
แสงแดดกระทบเปลือกตานิดเดียว ยังหงุดหงิดเลย
รำคาญแสงกระทบตา
อย่างเราเห็น(สภาวะ) ละเอียดขึ้นๆ
ต่อไปพอชำนิชำนาญในการดูจิตนะ
มันกลับไปดู ไม่ได้ดูโทสะ ไม่ได้ดูโลภะ
จะไปดูโมหะ โมหะคือความฟุ้งซ่าน
จะเห็นเลย จิตเดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็รู้
เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็รู้ อันนี้เห็นมาถึงตัวโมหะ
งั้นอย่างบางคน
หลวงพ่อบอกว่า เผลอไปแล้วรู้มั้ย
นั้นสอนให้ดูโมหะแล้ว
จิตเดี๋ยวเผลอ เดี๋ยวรู้
เดี๋ยวเผลอ เดี๋ยวรู้ ค่อยๆสังเกตไป
เราจะพบว่าจิตที่เผลอ มันก็เผลอได้เอง
เราห้ามมันไม่ได้ สั่งไม่ได้ว่าอย่าเผลอ
หรือจิตจะรู้สึกตัวเนี่ย สั่งให้รู้สึกตัวก็ไม่ได้
รู้สึกตัวแล้ว สั่งให้รู้สึกตัวนานๆ ก็ไม่ได้
เราไม่สามารถสั่งได้
อย่างขณะที่ฟังหลวงพ่อเทศน์
สังเกตมั้ย บางทีใจก็หนีไปคิด
คิดเรื่องที่หลวงพ่อเทศน์บ้าง คิดเรื่องอื่นบ้างนะ
เนี่ย ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อย
"จิตมันทำงานได้เอง มันไม่ใช่เรา"
อันนี้เป็นการดูจิตผ่านความฟุ้งซ่าน
เรียกว่า ผ่านอุทธัจจะ
อุทธัจจะ มันก็เป็นสังขารตัวหนึ่งนะ(สังขารขันธ์)
ก็เป็นเจตสิก เป็นธรรมะที่เกิดร่วมกับจิต
(เจตสิกมี ๓ ขันธ์/เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์)
.
งั้นเราก็หัดดู ถ้าจะดูจิตดูใจ
เราก็ดูจากสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิต(เจตสิก)
ขี้โกรธ เราก็เห็น จิตโกรธเกิดจิตโกรธดับ
ขี้โลภ เราก็เห็น จิตโลภเกิดจิตโลภดับไป
ชอบฟุ้งซ่าน เราก็เห็น จิตเผลอเกิดแล้วจิตเผลอก็ดับ
กลายเป็นจิตรู้ขึ้นมา
เนี่ยค่อยฝึก อย่างเนี้ยเรียกว่าดูจิต
.
ดูจิตไม่ใช่ไปดูความว่าง
พวกสอนดูจิต ดูจิตหลังๆนะ
ก่อนหน้าเนี้ยเยอะมากเลยสำนักดูจิต
เอะอะก็จะดูจิตๆ ที่แท้ไปดูความว่าง ไม่ใช่จิตหรอก
แล้วบอกว่า
หลวงปู่ดูลย์สอนว่าไม่ให้คิด
หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนว่าอย่าไปคิดนะ
ท่านบอกว่า
"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด"
ต้องอาศัยคิดนะ ไม่ใช่ไม่คิด
ท่านบอก จิตมีธรรมชาติ คิด นึก ปรุงแต่ง
จะไปห้ามมันได้ยังไง
ในขณะที่จิตมันคิดนั้นแหละ เราไม่รู้
ในขณะที่รู้ มันไม่หลงอยู่ในโลกของความคิด
แค่นั้นเอง เราไปคิดมาก
เราไปคิดว่าจะรู้ธรรมะได้ต้องไม่คิด
ถ้าต้องไม่คิดเลย
ไม่มีสติไม่มีปัญญาอะไรเลย ซื่อบื้ออยู่ ว่างๆอยู่เฉยๆ
ไม่ใช่เส้นทางของพระพุทธเจ้าเลย
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนนะว่าอย่าไปคิดมัน
ทำไมท่านไม่สอน
เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่คิด
ท่านไม่สอนอะไรที่เป็นไปไม่ได้หรอก
.
งั้นเราหัดดูสภาวะนะ
รูปธรรม(กาย)ก็ได้ นามธรรม(ใจ)ก็ได้
หัดดูไป แล้วแต่ถนัด
คนไหนถนัดจะดูรูป
ก็ดูรูปไปก่อน เราก็จะเห็นทั้งรูปทั้งนาม
รูป(กาย)เคลื่อนไหว นามคือจิตเป็นคนรู้นะ
ถ้าจะดูจิตดูใจเราก็จะเห็นเลย
ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เกิดแล้วดับ
จิตที่เกิดร่วมกับสุข ทุกข์ ดี ชั่ว
เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน
แล้วจิตจะเปลี่ยนแปลงได้
เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วได้
อาศัยอะไรเกิดขึ้น..?
อาศัยผัสสะ คือการกระทบอารมณ์(ทางอายตนะ)
ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส ใจคิดนึก
แล้วก็เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา
เกิดสุข เกิดทุกช์แล้ว ก็มีดี มีชั่วขึ้นมา
มีความสำคัญมั่นหมาย
มีความยึดถืออะไรขึ้นมา
มีความทุกข์ตามมา
ทุกข์ทางใจ
เนี่ย ค่อยๆรู้ ค่อยๆเห็นนะ ค่อยๆดูสภาวะไป
_/|\_ _/|\_ _/|\_
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
วัดสวนสันติธรรม 25 ธันวาคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น