วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ความจริงเรื่องวรรณะ

ในภาพอาจจะมี 3 คน, ผู้คนกำลังยืน
ความจริงเรื่องวรรณะ
ผมเห็นคนแชร์ข่าวเรื่องว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดียมาจากวรรณะจัณฑาล แต่มีคนแย้งว่าจัณฑาลว่าไม่ใช่วรรณะ ผมให้ผมเกิดสนใจเรื่องนี้ ว่าตกลงแล้ววรรณะคืออะไรกันแน่ แล้วมีกี่วรรณะ เพราะผมเคยคิดว่าวรรณะหมายถึงอาชีพ ดังนั้นมันไม่๐น่ามีแค่ ๔ แต่มีนับมิถ้วน
ปรากฎว่าผมเข้าใจเรื่องวรรณะผิดมาโดยตลอด รวมถึงเรื่องจัณฑาลด้วย
ผมคิดว่าคำอธิบายอาจารย์ Upinder Singh แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวเดลีในหนังสือ A History of Ancient and Early Medieval India ค่อนข้างเคลียร์มาก จะขอย่อคำอธิบายของท่านมาดังนี้
"วรรณะ" หมายถึงชั้นทางสังคมมี ๔ ชั้น คือพรามหณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร เป็นการแบ่งชั้นแบบกว้างๆ ในสังคมและมีความยืดหยุ่นพอสมควร
แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งขยายมาจากวรรณะ คือ "ชาติ" (อ่านว่า ชา-ติ หมายถึงชาติกำเนิด) คือสังกัดของวงศ์สกุลที่ทำอาชีพต่างๆ "ชาติ" นั้นมีมากมายเหลือคณานับ และมีชาติใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดแม้กระทั่งปัจจุบัน
วรรณะเป็นเรื่องตายตัวเปลี่ยนกันไม่ได้ ใครเกิดวรรณะพราหมณ์ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่ความเป็นพราหมณ์ไม่เกี่ยวกับสถานะทางการเมือง การเป็นเศรษฐี หรือการมีหน้ามีตาในสังคม
ในส่วนนี้ผมขอขยายเพิ่มเติมว่า กษัตริย์โบราณของอินเดียมิใช่มาจากวรรณะกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังมาจากวรรณะแพศย์ เช่นพวกราชวงศ์คุปตะ (แต่ละวรรณะมีสร้อยนามกุลต่อเช่นคุปตะหมายถึงพวกแพศย์ ส่วนวรมา หมายถึงเชื้อกษัตริย์) กษัตริย์หรือนักรบบางคนยังจนมาก มี "ชาติ" หรืออาชีพเป็นคนทำรองเท้าสานก็มี ปัจจุบันอาจารย์ Upinder ชี้ว่า วรรณะต่ำพยายามอัพเกรดตัวเองให้ดูดี เช่น กินมังสวิรัตเหมือนวรรณะสูง
มีความเชื่อว่าคนต่างวรรณะจะแบ่งของกินกันไม่ได้ เรื่องนี้ถูกครึ่งเดียว เพราะวรรณะสูงจะไม่รับของกินเฉพาะจากวรรณะต่ำ คือพวกศูทรที่มีชาติหรืออาชีพต่ำ เช่น พวกศูทรที่ทำอาชีพเกี่ยวกับศพหรือการฟอกหนัง หรือการฆ่าสัตว์ขายเนื้อ การไม่กินร่วมกับคนเหล่านี้เพราะถือคติเรื่องความบริสุทธิ์ทางศาสนา (เพราะพวกชั้นสูงไม่กินเนื้อ) หรือเรื่องสุขอนามัยมากกว่า ดังนั้น การกีดกันไม่เกี่ยวกับวรรณะ แต่เกี่ยวกับชาติ หรืออาชีพ
การแต่งงานข้ามวรรณะ หรือวรรณสังกร เกิดขึ้นได้ เรียกว่า "อนุโลม" ไม่ใช่ว่ากษัตริย์กับแพศย์จับคู่กันลูกจะเป็นพวกนอกคอกไปหมด
แต่การแต่งงามข้ามชาติ หรือสกุลอาชีพมักจะไม่เกิดขึ้น ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับทัศนะเรื่องความสะอาดเหมือนกับเรื่องไม่แบ่งของกินกันข้างต้น
อีกอย่างคือ แม้ว่าวรรณะจะมีการกำหนดอาชีพด้วย แต่จริงๆ แล้วทำอาชีพได้หลากหลายมาก เช่น กษัตริย์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ จะเป็นคนเลี้ยงวัวก็ได้ ส่วนพวกศูทร (ซึ่งมีสร้อยสกุลว่า ทาส) ก็ใช่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ทำงานหนักอย่างเดียวไปจนตายก็หาไม่ แต่ยังเป็นพ่อค้ามหาเศรษฐีได้เช่นกัน
แต่ "ชาติ" คือระบบ Caste หรือการแบ่งชนชั้นที่แท้จริง ถ้าเกิดในชาติต่ำ เช่น พวกขายเนื้อ ฟอกหนัก จะเปลี่ยนอาชีพลำบาก คนยังดูแคลน ชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นวรรณะศูทร จึงทำให้ความเป็นศูทรถูกลากไปเกี่ยวด้วย ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวเท่าไหร่ เพราะอย่างที่ว่าไว้ว่าศูทรเป็นคนมั่งมีก็ได้ เป็นนักรบก็ยังมี
ชาติที่ทำอาชีพต่ำจึงถูกเหยียดลงไปว่าเป็นพวกที่แตะต้องไม่ได้ เพราะไม่สะอาดในแง่ศาสนา เช่นฆ่าสัตว์ กินเนื้อ หรือทำบาปกรรมหันต์จึงถูกไล่ออกจากชุมชน กลายเป็นพวก "อวรรณะ" คือจัดเข้าพวกไม่ได้ หรือบางคนเสนอว่าอาจเป็นพวกคนพื้นเมืองที่มิใช่เผ่าอารยันรวมอยู่ด้วย ต่อมาไม่กี่ร้อยปีมานี้ มีการเรียกคนกลุ่มนี้ "ทลิตะ" ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า The Untouchables คือพวกที่แตะต้องไม่ได้
ในส่วนของ "จัณฑาล" คำๆ นี้หมายถึงคนที่ทำอาชีพสัปเหร่อหรือคนหากินในป่าช้า หรือในมหาภารตะบอกว่าเป็นพวกพรานล่าสัตว์ จึงนับเป็น "ชาติ" ไม่ใช่วรรณะ และยังถือเป็นพวก "อวรรณะ" คือนอกคอก
แต่ผมไม่แน่ใจว่าการเป็นจัณฑาลเกิดขึ้นเพราะอาชีพไม่สะอาด หรือเพราะจัณฑาลเป็นผลมาจากการสังวาสระหว่างวรรณะสูงสุด คือพราหมณ์แต่งงานกับวรรณะต่ำสุดคือศูทร ลูกออกมาจึงสุกๆ ดิบๆ ต้องไล่ออกไปหากินในป่าช้าก็ไม่ทราบ
ผมเชื่อว่าแต่โบราณ วรรณะและชาติมีความยืดหยุ่น คือใครตกอยู่ชาติไหนก็สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ จากคนหากินในป่าช้าหากเบื่อที่จะถูกเขาดูแคลน ก็ถีบตัวเองมาทำงานอื่น เท่านี้ก็พ้นจากสถานะตกต่ำ
แต่ในยุคโมเดิร์นมีการทำสำมะโนประชากร ทำให้มีการกำหนดชาติและวรรณะตายตัวขึ้น และเป็นเหตุให้คนที่มีอาชีพต่ำ เปลี่ยนสถานะยาก กระทั่งเปลี่ยนไม่ได้ ต้องแต่งงานกับพวกอาชีพเดียวกัน กลายเป็นจัณฑาลตั้งแต่เกิดยันตาย
ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ระบุว่า ความบริสุทธ์ของวรรณะเกิดขึ้นจากการกระทำ การปฏิบัติศีลธรรมจรรยา ดังนั้นวรรณะมิใช่การแบ่งว่าใครดีใครไม่ดี และวรรณะต่ำก็อาจครองแผ่นดิน วรรณะสูงก็อาจเป็นข้ารับใช้ได้ แต่เพราะบางคนอาจประพฤติมิชอบจึงทำให้ต้องถูกสังคมกีดกันให้เป็นอวรรณะ ต้องทำอาชีพที่ไม่สะอาดเป็นการลงโทษ
แต่โบราณการเป็นจัณฑาล จึงเป็นทั้งโดยสืบสกุลอาชีพ (ชาติจัณฑาล) และโดยการกระทำชั่ว (กรรมจัณฑาล) จะพ้นจากความตกต่ำแห่งชาติ ก็ด้วยกรรมที่ดีขึ้นนั่นเอง เพียงแต่ในยุคหลังระบบชาติถูกตรึงโดยอะไรสักอย่าง ทำให้คนในระบบชาติถีบตัวเองได้ยาก และถูกกดขี่อย่างหนัก
ภาพนักรบกูรข่า (กษัตริย์?) ชาววรรณะพราหมณ์ และชาวศูทร์ ถ่ายที่เมืองซิมลา ราวปี 1868 (ภาพจาก marquis_of_chaos / reddit)
-------------------------------------------
อ้างอิง
Crossing the Lines of Caste: Visvamitra and the Construction of Brahmin Power in Hindu Mythology โดย Adheesh A. Sathaye
Ethnicity and Mobility: Emerging Ethnic Identity and Social Mobility Among the Waddars of South India โดย Chandrashekhar Bhat
A History of Ancient and Early Medieval India: From the Stone Age to the 12th Century โดย Upinder Singh
Goddess Traditions in Tantric Hinduism: History, Practice and Doctrine บรรณาธิการ Bjarne Wernicke Olesen
เรื่องวรรณะอาจไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง แต่พุทธศาสนาเป็นคำสอนที่หักล้างคติการแบ่งชนชั้นที่ตายตัวในชมพูทวีป ดังนั้น การเข้าใจหลักวรรณะ หรือชาติ จะช่วยให้เราเข้าใจจุดประสงค์อย่างหนึ่งของการประกาศพระศาสนาในชมพูทวีปได้
พระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวรรณะโดยตรงคือ วาเสฏฐสูตร ในมัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก ความตอนหนึ่งว่า
"จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม (การกระทำ) ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจรก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม
บัณฑิตทั้งหลายมีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น
บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะ พรหมจรรย์สัญญมะ และทมะ กรรม ๔ อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของพรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ระงับกิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม เป็นท้าวสักกะ ของบัณฑิตผู้รู้แจ้งทั้งหลาย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น