วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอนหลวงปู่ดูลย์

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยิ้ม

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ 
ที่จริงมีไม่มากนะ มีนิดเดียว
ท่านไม่ใช่พระช่างพูด นานๆพูดทีนึง
ไปอยู่ด้วยเป็นชั่วโมง บางที เงียบๆ
พูดประโยคสองประโยค
หลังๆ เห็นคนเอาคำสอนหลวงปู่ดูลย์
มาโฆษณาเยอะแยะเลย ซึ่งไม่ใช่
แต่งขึ้นเอง แล้วก็บอกว่าหลวงปู่ดูลย์
.คำสอนท่านมีสองส่วน
ส่วนของสมถะ กับ วิปัสสนา
สมถะ
ท่านพูดคำเดียวมันครอบคลุมอยู่ ท่านบอก "อย่าส่งจิตออกนอก"
จิตออกนอก ก็จิตฟุ้งซ่าน จิตไหลไป ก็ไม่มีสมาธิ
ถ้าจิตไม่ออกนอกนะ จิตก็ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
แล้วท่านก็บอกอีกว่า "ธรรมชาติของจิตต้องส่งออกนอก"
เพราะธรรมชาติของจิต มันต้องส่งออกนอก
แต่ท่านกับไปบอกว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
ฟังแล้วแปลกมั้ย
.ธรรมชาติของจิตส่งออกนอกนะ
แล้วก็ เวลาจิตไปกระทบอารมณ์
อย่างจิตมันต้องส่งออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ไปไหนเลยก็ไม่ได้
นี้พอจิตมันกระทบอารมณ์แล้ว
จิตมันกระเพื่อมหวั่นไหว
ยินดียินร้ายขึ้นมา มันก็ปรุงแต่งต่อ
พอจิตมันปรุงแต่ง ก็คือจิตมันสร้างภพ
มันก็ทุกข์ขึ้นมา
.
ท่านบอกว่า
"พระอริยเจ้า คือพระอรหันต์เนี่ย มีจิตไม่ออกนอก"
ในขณะที่ ทีแรกท่านบอกว่า "จิตมีธรรมชาติออกนอก"
พอถึงพระอรหันต์ ท่านบอกว่า
"พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ออกนอก
มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว
มีสติเป็นวิหารธรรม อยู่จบอริยสัจตรงนี้"
ฟังแล้วเหมือนขัดกันไปขัดกันมา
คือจริงๆ เป็นธรรมะคนละขั้นกัน
จิตพระอรหันต์เนี่ย ไม่มีขอบเขต ไม่มีขนาด
จิตของพวกเรา รู้สึกมั้ย มันแคบๆเล็กๆ
งั้นมันรู้สึกจิตมันวิ่งไปวิ่งมาได้
จิตพระอรหันต์มันไม่มีขอบเขต
งั้นจะดู มันก็แค่สักว่าดู มันไม่ต้องวิ่งไปดู
จะฟัง มันก็แค่สักว่าฟังนะ มันไม่ต้องวิ่งไปฟัง
งั้นจิตนั้นไม่ออกนอกนะ แต่ไม่มีข้างใน
.
หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน
บอกว่า จิตเนี่ย จิตจริงๆ นะ
ข้างในเหมือนท่อนไม้ และก้อนหิน
คือไม่มีความเคลื่อนไหว
ข้างนอกไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีรูปร่าง
แต่ข้างในเนี่ย ไม่มีความเคลื่อนไหว
แต่จิตของเราเคลื่อนไหวอยู่ข้างใน หมุนอยู่ตลอด
.
งั้นเวลาฟังครูบาอาจารย์
บางทีต้องฟังแล้ว ต้องฟังให้ดี
บางทีฟังแล้วเข้าใจผิดเลย
อย่างบางองค์ท่านก็สอนนะ
บอกว่า จิตไม่เกิดไม่ดับ
ในขณะที่พระพุทธเจ้าสอน
"จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืน"
ทำไมครูบาอาจารย์บางองค์
บอก จิตไม่เกิดไม่ดับ
บางองค์ก็บอกว่า
ถ้าใครเห็นว่าจิตเที่ยงเป็นมิจฉาทิฏฐิ
หลวงปู่หล้า(เขมปตฺโต)ภูจ้อก้อ ว่าอย่างนั้น
สุดท้ายจิตมันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง
จิตมันเกิดดับหรือจิตมันไม่เกิดดับ
เราฟังแล้วงงนะ
.
งั้นการเรียนธรรมะนะ
อย่าเรียนหลายที่
เรียนหลายอาจารย์จะไม่รู้เรื่อง
จะขัดกันไปขัดกันมา
บางทีท่านพูดสิ่งเดียวกัน ภาษาไม่เหมือนกัน
บางทีท่านพูดกันคนละระดับ
องค์นี้พูดระดับนี้ องค์นี้พูดระดับนี้
เราฟังแล้วเราก็แยกไม่ออก เราก็งงว่า
ตกลงจิตมันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง อะไรอย่างเนี้ย
.
ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดนะ
เราเรียนว่า "พระพุทธเจ้าสอนอะไร
แล้วเดินตามร่องรอยที่พระพุทธเจ้าบอกให้
ปลอดภัยที่สุด"
อย่างท่านสอนสติปัฏฐาน ๔
เรียนเรื่องสติปัฏฐานให้ดี
ท่านสอนเรื่องไตรลักษณ์ เรียนเรื่องไตรลักษณ์
เรื่องขันธ์ ๕
อายตนะ ๖
เรียนเรื่องธาตุ
ไม่จำเป็นต้องเรียนทั้งหมด
เรียนขันธ์ ๕ แจ่มแจ้ง
มันก็แจ่มแจ้งในอายตนะ
ในธาตุ, ในอินทรีย์, ในปฏิจจสมุปบาท
เรียนอายตนะจบนะ
มันก็เข้าใจแจ่มแจ้งทั้งหมดอีก
.
งั้นเราสังเกตตัวเองนะ
ค่อยๆฝึกตัวเราเองไป
ถ้าเราเป็นพวกคิดมาก(ทิฏฐิจริต)
พวกคิดมากเนี่ย จิตไม่ค่อยสงบ
กรรมฐานที่เหมาะ กับพวกจิตไม่ว่างจิตไม่สงบ
ก็คือดูจิตเอา เพราะจิตนี้จะเปลี่ยนแปลงให้ดู
งั้นเราก็ต้องรู้จักตัวเองว่า จะใช้กรรมฐานอะไร
หรือถ้าเป็นพวกรักสุข
รักสบาย รักสวยรักงาม(ตัณหาจริต)
อะไรอย่างนี้ ดูกาย
เพราะกายเนี้ย มันจะสอนให้เห็นว่า
ไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งาม
กายมันเต็มไปด้วยความทุกข์
เต็มไปด้วยของไม่สวยไม่งาม
ถ้าคิดมาก ก็ดูจิตไป
เพราะทุกคราวที่คิด จิตมันเปลี่ยน
คิดเรื่องนี้มีความสุข คิดเรื่องนี้มีความทุกข์
คิดเรื่องนี้โลภ คิดเรื่องนี้โกรธ คิดเรื่องนี้หลง
คิดเรื่องนี้ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้หดหู่
จิตมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
.
แต่คนส่วนใหญ่นั้น มีจริตผสมผสาน
มีทั้งคิดมาก มีทั้งรักสวยรักงาม รักตัวเอง
งั้นเราสังเกตดูว่า อันไหนมันเด่นกว่าอันไหน
แล้วคอยรู้ตัวนั้นเป็นหลัก
ถ้าเจ้าความคิดเจ้าความเห็นนะ ดูจิตเป็นหลัก
แต่ว่า(ดูจิต)มันก็เห็นกายด้วย ไม่ใช่ไม่เห็นกาย
ถ้าเรารักสวยรักงาม รักสุข รักสบายมาก
ดูกายเป็นหลัก แต่มันก็เห็นจิตด้วย
เพราะจิตเป็นคนสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว
งั้นเราดูตัวเองนะ
.
เนี่ยเรียนสิ่งเหล่านี้ให้แม่นๆ
แล้วไปลงมือปฏิบัติเอา
อย่างสติปัฏฐาน ๔ เนี่ย เริ่มต้น
ก็ต้องมีวิหารธรรม/มีเครื่องอยู่ของจิต
เครื่องอยู่ของจิตนั้น ก็คือ
รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย
จะใช้รูป หรือจะใช้นาม บอกแล้วว่าเพราะอะไร
ถ้าเราคิดมาก ก็ดูนามธรรมเป็นหลัก
ถ้าเรารักในร่างกายนี้มากนะ ก็ดูรูปธรรมเป็นหลัก
เนี่ยต้องมีวิหารธรรม/มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่
ถ้าจิตไม่มีเครื่องอยู่นะ จิตก็ร่อนเร่ไป
พอจิตร่อนเร่ไป เราดูไม่ออกว่าจิตร่อนเร่
สติไม่เกิด
.
งั้นเราต้องมีวิหารธรรม/มีเครื่องอยู่ของจิต
อยู่กับกายก็ได้ อยู่กับเวทนาก็ได้
อยู่กับจิตที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้
อยู่กับธรรม รูปธรรมและนามธรรม ก็ได้
อันไหนก็ได้ แล้วแต่ความถนัดนะ
.
ถ้าพวกอินทรีย์แก่กล้าเนี่ย
แล้วเป็นพวกตัณหาจริต...
พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงามเนี่ย
ควรจะดูเวทนา
ดูกายเนี่ย รู้สึกตื้นไปไม่มัน
ถ้าอินทรีย์ไม่แก่กล้าดูกาย
แล้วถ้าเป็นพวกช่างคิด/พวกทิฏฐิจริต ช่างคิด
ถ้าอินทรีย์ไม่แก่กล้า ดูจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง
ถ้าอินทรีย์แก่กล้าแล้ว มันจะขึ้นไปธรรมนุปัสสนาฯ
จะเห็นรูปธรรม-นามธรรมมันทำงาน
งั้นเราสันนิษฐานก่อนว่า
(อินทรีย์)เรายังไม่แก่กล้า
เราก็ดูรูป-ดูนาม/ดูกาย-ดูใจไปนะ
ดูกาย-ดูจิต
.
ดูกายก็เห็นได้หลายแบบ
เห็นร่างกายหายใจออก รู้สึกตัว
เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกตัว
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกตัว
เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกตัว
ถนัดแค่ไหนเอาแค่นั้น
บางคนแค่รู้หายใจออก หายใจเข้า
รู้สึกตัวได้ มันก็รู้สึกตัวได้ทั้งวัน
เพราะทั้งวันมีแต่หายใจออก กับหายใจเข้า
หายใจออกด้วย หายใจเข้าด้วย คนละรูจมูกทำได้มั้ย
ไม่รู้เหมือนกัน ทำไม่เป็น
งั้นถ้าเราเห็นร่างกายหายใจออก เรารู้สึกตัว
ร่างกายหายใจเข้า เรารู้สึกตัว
เรารู้สึกตัวทั้งวันแล้ว
งั้นอิริยาบถใหญ่ๆของเราน่ะ
ยืน เดิน นั่ง นอน
ไอ้กระโดด เขย่งเก็งกอยอะไรเนี่ย นานๆมีที
ไม่มีใครไปไหนเค้ากระโดดไปหรอก ไม่ใช่ผีแมนจู
งั้นเราก็รู้อิริยาบถ
ยืน เราก็รู้สึกตัว เดิน เราก็รู้สึกตัว นั่ง ก็รู้สึกตัว
นอน ก็รู้สึกตัว
มันจะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน
บางคนบอกว่า ชอบว่ายน้ำ
ว่ายน้ำมันยืน เดิน นั่ง นอน มันยังไงแน่
มันก็เอนๆหน่อยหนึ่ง จะว่านอนมันก็ไม่เหมือนนอน
อันนั้นเป็นอีกบรรพหนึ่ง รู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว
มันเคลื่อนไหวในอิริยาบถย่อยๆ
ที่แปลกออกไปกว่าปกติ
.
งั้นในสติปัฏฐานหมวดกายเนี่ย
มีตัวที่ทำง่ายๆ อยู่ ๓ ตัว
คือรู้การหายใจ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก
ก็จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน
เพราะทั้งวันมีแต่หายใจออก หายใจเข้า
แต่ถ้าหายใจออก ใจลอย หายใจเข้า ใจลอย
ก็คือใจลอยทั้งวัน
หรือจะรู้อิริยาบถ ๔
ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกตัว
ก็รู้สึกตัวได้ทั้งวัน
_/|\_ _/|\_ _/|\_
วัดสวนสันติธรรม ต.โค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
แสดงธรรม ณ วัดสวนสันติธรรม 4 มิถุนายน 2560
CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ 71
File:600604A
พระธรรมเทศนาระหว่างนาที 0:22-- 11:02
ดาวน์โหลดไฟล์เสียงธรรมะได้ที่
Dhamma.com
.....
กราบคุณพระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูง
กราบพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น