วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระคิริมานนทสูตร



#พระคิริมานนทสูตร (พระยาธรรมิกราช) ตอนที่ ๑
ปฐมเหตุ
เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ตตฺรโข อายสฺมา คิริมานนฺโท อาพาธิโก โหตีติ.
บัดนี้จะแสดงพระสูตรอันหนึ่ง อันโบราณอาจารย์เจ้า กล่าวไว้ว่า คิริมานนทสูตร ได้อ้างเนื้อความแต่ครั้ง ปฐมสังคายนา พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ เปิดโอกาสไว้ให้พระอานนท์องค์หนึ่ง ได้เข้ามาสู่ที่ประชุม พร้อมกันแล้ว คอยพระอานนท์องค์เดียวกำลังเจริญสมถ วิปัสสนาอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ ครั้นพระอานนท์ เถรเจ้าได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็เข้าจตุตถฌาน เอาปฐวี กสิณเป็นอารมณ์ไปปรากฏบนอาสนะท่ามกลางสงฆ์ ให้ พระสงฆ์สิ้นความสงสัยในอรหัตตคุณ ที่ถ้ำสัตตบัณณคูหา ปฏิญาณตนในอเสขภูมิ ด้วยประการฉะนี้แล้ว พระมหา สังคาหกเถรเจ้าทั้งหลายมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน จึง ได้อาราธนาเชื้อเชิญให้พระอานนท์ ขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์ แสดงสุตตันตปิฎก ยกคิริมานนทสูตรนี้ขึ้นเป็นหัวข้อ พระมหากัสสปะเถรเจ้าจึงถามพระอานนท์ว่า อานนฺท
ดูกรอานนท์ พระสูตรอันมีชื่อว่าคิริมานนทสูตรนั้น พระพุทธเจ้า แสดงแก่บุคคลผู้ใด และตรัสเทศนา ณ ที่ไหน ปรารภอะไร ให้เป็นเหตุ จึงได้ตรัสเทศนามีวิตถารพิสดารอย่างไร? ขอให้พระอานนท์เจ้าจงแสดงต่อไปในกาลบัดนี้ อถ โข อายสฺมา อานนฺโท ลำดับนั้นพระอานนท เถรเจ้า ผู้นั่งอยู่บนธรรมาสน์ ได้โอกาสแต่พระสงฆ์แล้ว จึง วิสัชนาพระสูตรนี้ มีคำปฏิญญาในเบื้องต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้ ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ หากได้สดับมาแต่พระอบแก้ว กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า มีใจความว่า เอกํสมยํ สมัยกาลคาบหนึ่ง พระผู้มีพระภาค สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวัน วิหาร อันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ใกล้กรุงสาวัตถี ในกาลนั้นพระผู้เป็นเจ้าชื่อว่าคิริมานนท เถระผู้มีอายุ อาพาธิโก เกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะ อดกลั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงให้เชิญข้าพเจ้าเข้าไปยังสำนัก ของตนแล้ว จึงกล่าวว่า อานนฺท
ดูกรอานนท์ ข้าพเจ้า ผู้ชื่อว่าคิริมานนท์นี้ บังเกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะ อดกลั้น ไม่สามารถจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ขอนิมนต์ท่านอานนท์นำเอาอาการอาพาธอันร้ายแรง ของข้าพเจ้าไปกราบทูล ให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบ เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์ให้ทุกขเวทนา เจ็บปวด ซึ่งเบียดเบียนอยู่ในร่างกายของข้าพเจ้านี้ ระงับ อันตรธานหายเถิด ข้าพเจ้ารับเถรวาทีแล้ว ก็เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอาการอาพาธและทุกขเวทนา ตามคำสั่งของพระคิริมานนท์ให้ทรงทราบทุกประการ อถ โข ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้ทรง ทราบอาการของพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์ แล้วจึงตรัสแก่ ข้าฯ ว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ ท่านจงกลับคืนไปสู่สำนัก ของท่านคิริมานนท์โดยเร็ว แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า
รูปสัญญา นามสัญญา
วิสุทฺธจิตฺเต อานนฺท เท.ว สญฺญา สุตฺวา โส อาพาโธ ฐานโส ปฏิปสฺสมฺเภยฺย ดังนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อท่านไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว ท่านจงบอกสัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา๑ นามสัญญา๑ คือว่ารูปร่าง กายตัวตนทั้งสิ้นก็ดี คือนามได้แก่จิตเจตสิกทั้งหลายก็ดี ก็ให้ปลงธุระเสีย อย่าถือว่ารูปร่างกายจิตเจตสิกเป็นตัวตน และอย่าเข้าใจว่าเป็นของของตน ทุกสิ่งทุกอย่างความจริง เป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้น
ดูกรอานนท์ ถ้าหากว่า รูปร่างกายเป็นตัวตนเราแท้ เมื่อล่วงสู่ความแก่เฒ่าชรา ตาฝ้า หูหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง ฟันโยกคลอน เจ็บปวด เหล่านั้น เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ ว่าอย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้ นี่เราบังคับไม่ได้ตามประสงค์ เขาจะเจ็บ จะไข้ จะแก่ จะตาย เขาก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา เรา หมดอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้ เมื่อตายเราจะพาเอาไป สักสิ่งสักอันก็ไม่ได้ ถาเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็คงจะพา เอาไปได้ตามความปรารถนา
ดูกรอานนท์ ถึงจิตเจตสิกก็ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน หากว่าจิตเจตสิกเป็นเรา หรือเป็นของของเรา เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า จิต ของเราจงเป็นอย่างนี้จงเป็นอย่างนั้น จงสุขสำราญทุกเมื่อ อย่าทุกข์อย่าร้อนเลยดังนี้ ก็จะพึงได้ตามปรารถนา นี่หาเป็น เช่นนั้นไม่ เขาจะคิดอะไรเขาก็คิดไป เขาจะอยู่จะไปก็ตาม เรื่องของเขา เพราะเหตุร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ ตัวตน ไม่ใช่ของของตน ให้ปลงธุระเสีย อย่าเข้าใจถือเอา ว่าเป็นตัวตนและของของตนเถิด.
ดูกรอานนท์ ท่านจงไป บอกซึ่งสัญญาทั้ง ๒ ประการคือรูปและนามนี้ โดยเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนและไม่ใช่ของของตน ให้พระคิริมานนท์ แจ้งทุกประการ เมื่อพระคิริมานนท์แจ้งแล้ว การอาพาธ ความเจ็บปวดและทุกขเวทนาก็จะหายจากร่างกายของ พระคิริมานนท์หมดสิ้น จะหายอาพาธโดยรวดเร็วด้วย ภนฺเต อริยกสฺสป ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้เป็นประธาน ในสงฆ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ข้าฯ ด้วยประการ ดังนี้แล.
อาสุภานุสสติกรรมฐาน
ตทนนฺตรํ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส เทศนาแก่ข้าฯ สืบต่อไปว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ ตัวตน เราก็ดี ตัวตนของผู้อื่นก็ดี ตัวตนของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ก็ดี ก็มีอยู่แต่กองกระดูกสิ้นด้วยกัน เหมือนกันทุกตัวคน และตัวสัตว์ จะหาสิ่งใดเป็นแก้วเป็นแหวนเป็นแท่งเงิน แท่งทองแต่สักสิ่งสักอันก็หาไม่ได้ จะหาเอาอันใดเป็นตัว เป็นตน เป็นจิตเป็นเจตสิกของบุคคลผู้ใดก็ไม่มี ล้วนเป็น อนัตตาหาแก่นสารมิได้ บุคคลหญิงชาย คฤหัสถ์นักบวช ทั้งหลาย มาพิจารณาเห็นแจ้งชัดใน รูป นาม จิต เจตสิก โดยเป็นอนัตตาดังนี้แล้ว ก็จะมีอานิสงส์ไม่มีส่วนที่จะพึง ประมาณได้ ท่านพิจารณาแต่คำว่า อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อใน กระดูกเหล่านั้น ท่านถือเอาอัฏฐิกสัญญาอย่างเดียวเป็น อารมณ์ ก็จะผ่องใสรุ่งเรืองเห็นแจ้งในร่างกายของตน จนได้บรรลุธรรมวิเศษ เหตุถือเอาอัฏฐิกสัญญาเป็นอารมณ์ เห็นอนัตตาแจ่มแจ้งด้วยประการดังนี้.
ดูกรอานนท์ มรณ สัญญา พิจารณาความตายก็ดี อัฏฐิกสัญญา พิจารณา กองกระดูกก็ดี ปฏิกูลสัญญา พิจารณาร่างกายนี้โดยเป็น ของน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียนเต็มไปด้วยหมู่หนอนและ จุลอินทรีย์มีจำนวนมากตามลำใส้น้อยลำใส้ใหญ่ ตามเส้น เอ็นทั่วไปในร่างกาย และเต็มไปด้วยเครื่องเน่าของเหม็น มีอยู่ในร่างกายนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายนี้นับว่าเป็นของเปล่า ไม่มีอะไรเป็นของเราสักสิ่งสักอัน เกิดมาสำคัญว่าเป็นสุข ความจริงก็สุขไปอย่างนั้นเอง ถ้าจะให้ถูกต้องกล่าวว่า เกิดมาเพื่อทุกข์ เกิดมาเจ็บ เกิดมาใข้ เกิดมาเป็นพยาธิ เจ็บปวด เกิดมาแก่ เกิดมาตาย เกิดมาพลัดพรากจากกัน เกิดมาหาความสุขมิได้ ความสุขนั้นถ้าพิจารณาดูให้ละเอียด แล้วมีน้อยเหลือประมาณ ไม่พอแก่ความทุกข์ นอนหลับ นั้นแหละนับว่าเป็นความสุข แต่เมื่อมาพิจารณาดูให้ละเอียด แล้ว ซ้ำเป็นทุกข์ไปเสียอีก ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นตามดังเรา ตถาคตแสดงมานี้เป็นนิมิตอันหนึ่ง ครั้นจดจำได้แน่นอน ในตนแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้มรรคผลนิพพานในปัจจุบันนี้ โดยไม่ต้องสงสัย.
ดูกรอานนท์ นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ฉลาด ด้วยปัญญา ท่านบำเพ็ญอสุภานุสสติกรรมฐาน ปรารถนา เอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งนั้น ท่านยอมถือเอาอสุภะในตัว เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้ายังเอาอสุภะภายนอกเป็น อารมณ์อยู่แล้ว ยังไม่เต็มทางปัญญา เพราะยังอาศัย สญญาอยู่ ถ้าเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้จึงเป็นที่สุดแห่งทางปัญญา เป็นตัววิปัสสนาญาณได้.
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน จงยังอสุภ กรรมฐานในตนให้เห็นแจ้งชัดเถิด ครั้งไม่เห็นก็ให้พิจารณา ปฏิกูลสัญญาลงในตนว่า แม้ตัวของเรานี้ถึงยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นของน่าพึงเกลียดพึงเบื่อหน่ายยิ่งนัก ถ้าหากว่าไม่มี หนังหุ้มห่อไว้แล้ว ก็จะเป็นของน่าเกลียดเหมือนอสุภะแท้ เพราะมีหนังหุ้มห่อไว้จึงพอดูได้ อันที่แท้ตัวตนแห่งเรานี้ จะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยลมอัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น ถ้าขาด ลมหายใจเข้าออกแล้ว ตัวตนนี้ก็จะเน่าเปื่อยผุพังไป แต่นั้นก็จะเป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลายมีหนอนเป็นต้น จะมาเจาะไชกิน ส่วนลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นเจ้าชีวิต นั้นเล่า ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ของของตัว เขาอยากอยู่ เขาก็อยู่ เขาอยากดับเขาก็ดับ เราจะบังคับบัญชาไม่ได้ ตามปรารถนา ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว ความสวย ความงามในตน และความสวยความงามภายนอก คือ บุตรภรรยาและข้าวของเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวง ก็ย่อมหายไปสิ้นด้วยกันทั้งนั้น เหลียวซ้ายแลขวาจะได้เห็น บุตรภรรยาและหลานก็หามิได้ ต้องอยู่คนเดียวในป่าช้า หาผู้ใดจะเป็นเพื่อนสองมิได้
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใด พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน ๓๒ ประการ เห็นซากผีดิบ ในตน ชื่อว่าได้ถือเอาความสุขในทางพระนิพพาน วิธีเจริญ อสุภกรรมฐานตามลำดับ คือให้ปลงจิตลงในเกสา (ผม) ให้เห็นเป็นอสุภะ แล้วให้สำคัญในเกสานั้นว่าเป็นอนัตตา แล้วให้เอาโลมา (ขน) ตั้งลงปลงจิตให้เห็นเป็นอสุภะเป็น อนัตตา แล้วเอานขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตั้งลงปลงจิต ให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตา แล้วให้เอาตโจตั้งลงตาม ลำดับไป จนถึงมัตถเกมัตถลุงคังเป็นที่สุด พิจารณาให้เห็น เป็นอสุภะเป็นอนัตตาโดยนัยเดียวกัน
ดูกรอานนท์ เรา ตถาคตแสดงมานี้โดยพิสดาร ให้กว้างขวางทั้งเบื้องต้นและ เบื้องปลาย แท้จริงบุคคลผู้มีปัญญารู้แล้ว ก็ให้สงเคราะห์ ลงใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น บุคคลผู้มีปัญญา จะเจริญอสุภกรรมฐาน ท่านมิได้เจริญแต่ต้นลำดับไปจน ถึงปลาย เพราะเป็นการเนิ่นช้า ท่านยกอาการอันใด อันหนึ่งขึ้นพิจารณา สงเคราะห์ลงใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านก็ย่อมได้ถึงมรรคผลนิพพานโดยสะดวก การที่เจริญ อสุภกรรมฐานนี้ ก็เพื่อจะให้เบื่อหน่ายในร่างกายของตน อันเห็นว่าเป็นของสวยของงาม ทั้งวัตถุภายในและภายนอก ให้เห็นเป็นของเปื่อยเน่าผุพัง จะได้ยกตนให้พ้นจากกิเลส ตัณหา ผู้มีปัญญารู้แล้วไม่ควรชื่นชมยินดีในรูปตนและผู้อื่น ทั้งรูปหญิงรูปชาย ทั้งวัตถุข้าวของดีงามประณีตบรรจง อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะว่าความรักทั้งปวงนั้นเป็นกอง กิเลสทั้งสิ้น ถาห้ามใจให้ห่างจากกองกิเลสได้ จึงจะได้รับ ความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า ถ้าหากใจยังพัวพันอยู่ใน กองกิเลสแล้ว ถึงแม้จะได้รับความสุขสบายก็เพียงชาตินี้ เท่านั้น เบื้องหน้าต่อไปไม่มีทางที่จะได้เสวยสุข มีแต่ เสวยทุกข์โดยถ่ายเดียว ผู้มีปัญญาเมื่อได้เจริญอสุภานุสสติ กรรมฐาน เอาทวัตติงสาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ก็ควรละ กองกิเลสตัณหาให้ขาดสูญ เมื่อรู้แล้วปฏิบัติตามจึงจะเห็น ผลเป็นกุศลต่อไป เมื่อรู้แล้วไม่ปฏิบัติตามก็หาผลอานิสงส์ มิได้ เพราะละกิเลสตัณหามิได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตก เข้าไปในกองเพลิง เมื่อรู้ว่าเป็นกองเพลิง ก็รีบหลีกออกหนี จึงจะพ้นความร้อน ถ้ารู้ว่าตัวตกเข้าอยู่ในกองเพลิง แต่ มิได้พยายามที่จะหลีกออกหนีออก จะพ้นจากความร้อน ความไหม้อย่างไรได้ ข้ออุปมานี้ฉันใด บุคคลรู้แล้วว่า สิ่งนี้เป็นโทษแต่มิได้ละเสีย ก็มิได้พ้นจากโทษเหมือนกับ ผู้ไม่พ้นจากกองเพลิงฉะนั้น
ดูกรอานนท์ผู้รู้แล้วมิได้ทำ ตามนั้น จะนับว่าเป็นคนรู้ไม่ได้เพราะไม่เกิดมรรคเกิดผลเลย เราตถาคตอนุญาตตั้งศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้นี้ ก็เพื่อว่า เมื่อผู้รู้แล้วว่าสิ่งใดเป็นโทษให้ละเสีย มิใช่ตั้งไว้เพื่ออ่านเล่น ฟังเล่น พูดเล่น เท่านั้น บุคคลทั้งหลายล้วนเสวยทุกข์ใน มนุษย์และในอบายภูมิทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย เป็นเพราะ กิเลสราคะตัณหาอย่างเดียว ถ้าบุคคลผู้ยังไม่พ้นจากกิเลส ราคะตัณหาตราบใด ก็ยังไม่เป็นผู้พ้นจากอบายทุกข์ได้ จนตราบนั้น บุคคลผู้มิได้พ้นจากกิเลสราคะตัณหานั้น จะ ทำบุญให้ท่านสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จะได้ เสวยความสุขในมนุษยโลกและเทวโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้ เสวยสุขในพระนิพพานนั้นเป็นอันไม่ได้เลย ถ้าประสงค์ต่อ พระนิพพานแท้ ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนาไม่ว่า บุรุษหญิงชาย ถ้าทำได้อย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองนิพพานนั้นปราศจากกิเลสตัณหา ผู้มีปัญญา เมื่อปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงออกบวชใน พระพุทธศาสนา แล้วตั้งใจเจริญสมถวิปัสสนา อย่าให้ หลงโลกหลงทาง ถ้าไม่รู้ทางพระนิพพาน มีแต่ตั้งหน้า ปรารถนาเอาเท่านั้นก็จะหลงขึ้นไปในอรูปพรหม ชื่อว่า หลงโลกหลงทางไปในภพต่างๆให้ห่างจากพระนิพพานไป การทำบุญทำกุศลทั้งหลายนั้น มิใช่ว่าจะให้บุญนั้นพาไป ในที่อื่น ทำเพื่อระงับดับกิเลสได้อย่างเดียว อย่าเข้าใจ ว่าทำบุญกุศลแล้ว บุญกุศลนั้นจะยกเอาตัวนำเข้าไปสู่ พระนิพพานเช่นนั้นหามิได้ ทำเพื่อจะระงับกิเลสตัณหา แล้วจึงจะไปพระนิพพานได้ กิเลสตัณหานั้นมีอยู่ที่ตัวของเรา ถ้าเราไม่ทำให้ดับ ใครจะมาช่วยดับให้ ต้นเหง้าเค้ามูลของ กิเลสตัณหาอยู่ที่เรา ถ้าเราดับไม่ได้ก็ไม่ถึงซึ่งความสุขใน พระนิพพานเท่านั้น
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
หนังสือคิริมานนทสูตร (อุบายรักษาโรค)
 แปลจากภาษาสยามฝ่านเหนือสู่ภาษาสยามกลาง
 โดย พระธรรมมีรราชมหามุนี (จันทร์ สิริจนฺโท)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น