วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

แม่เจ้าอยู่หัว ที่เมืองนครฯ

เจ้าหญิงมะสุหรี (ในจินตนาการ) นางเลือดขาวแห่งลังกาวี
แม่เจ้าอยู่หัว ที่เมืองนครฯ อีกหนึ่ง “นางเลือดขาว” ที่ชาวบ้านช่วยกันเขียน เป็นตำนานของท้องถิ่น

“เป็นครั้งแรกที่งานวิจัยอันเกี่ยวเนื่องกับวิถีความเชื่อของชุมชนได้รับการยกย่องให้เป็นงานเด่นในการจัดอันดับ ๑๕ งานวิจัยเด่นประจำปีของ สกว. โครงการการเรียนรู้ประวัติแม่เจ้าอยู่หัวอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการคัดสรรให้เป็นผลงานวิจัยเด่นของ สกว.สำนักงานภาค เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของชุมชนที่พยายามหาคำอธิบายเรื่องราวของแม่เจ้าอยู่หัว ตำนานพื้นถิ่นของนครศรีธรรมราช และเกี่ยวพันอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ โดยมีแรงบันดาลใจจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีรับสั่งถามถึงคำเรียกชื่อตำบลแม่เจ้าอยู่หัว ตำนานท้องถิ่นเล่าต่อกันมาถึงเรื่องนางเลือดขาว ผู้เพียบพร้อมด้วยศีลธรรมงามสมเบญจกัลยาณี อันเป็นคุณลักษณะของสตรีตามพุทธคติ บุญพาวาสนาส่งให้ได้เป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช เรียกขานตามศักดิ์ว่าแม่เจ้าอยู่หัว ที่พึ่งทางวิญญาณของชาวชุมชนมากว่า ๗๔๕ ปี
อานิสงส์ยิ่งใหญ่ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ ไม่ได้อยู่ที่เพียงคำอธิบายถึงตำนานท้องถิ่นที่ชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือสำนึกร่วมของชุมชนที่ได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้และทำงานวิจัย เกิดความสมัครสมานสามัคคีและได้เครือญาติทางประวัติศาสตร์ งานวิจัยยังฉายภาพชัดถึงความร่วมมือในกลุ่มภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้าน ศรัทธาเดิม และที่มาที่ชัดเจนขึ้นของแม่เจ้าอยู่หัว ได้ร้อยรัดให้ชาวชุมชนเชื่อมั่นต่อคุณความดี เป็นพลังผลักให้เกิดการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนในรูปแบบอีกหลากหลายในเวลาต่อมา”
[คำประกาศ ๑๕ โครงการและผลงานวิจัยเด่นประจำปี ๒๕๔๕ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)]

ผมเคยตั้งคำถามให้ตัวเองอยู่ตลอดมาเวลานั่งรถผ่านชุมชนแม่เจ้าอยู่หัว บนเส้นทางจากเมืองนครฯ ไปหัวไทรและสงขลา จนเมื่อพบกับผู้ใหญ่ชลอ เอี่ยมสุทธิ์ ก็เคยบอกเชิงถามว่าชื่อตำบลแม่เจ้าอยู่หัวของพี่น้องนั้นเป็นมงคลนาม น่าสืบค้นหาที่มาเพื่อเป็นฐานการพัฒนาต่อๆ ไป ทราบว่าชาวแม่เจ้าอยู่หัวซึ่งได้รับคำถามและมีคำถามนี้อยู่พอตัว รวมแม้กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ทรงรับสั่งถาม และได้ร่วมกันจัดทำโครงการการเรียนรู้ประวัติแม่เจ้าอยู่หัวอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนแม่เจ้าอยู่หัวอยู่ ๑ ปีเต็ม ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บทสรุปและยังก่อขยายผลเป็นพลังและการขับเคลื่อนในชุมชนอย่างมากมาย มีหลายชุมชนเอาเป็นบทเรียนเพื่อไปคิดทำกันอย่างน่าชื่นชมยินดี จนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เองก็หยิบยกเป็นโครงการและผลงานวิจัยเด่นประจำปี ๒๕๔๕ ด้วย
เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ผ่านมา ในเวทีสัมมนา “งานวิจัยประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้” ที่ สกว.จัดขึ้นที่จังหวัดตรัง และผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการนำเสนอของผู้ใหญ่ชลอ เอี่ยมสุทธิ์ พร้อมข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ โดยผู้ใหญ่ชลอยังได้มอบรูปเคารพจำลองแม่เจ้าอยู่หัว ที่ชาวแม่เจ้าอยู่หัวร่วมกันสร้างจากทองเหลืองเก่าที่นำมาสมทบกันหลอมหล่อได้อย่างสวยงามน่าศรัทธายิ่งแก่ผมด้วย พร้อมกันนั้นผมได้ขอถ่ายสำเนารายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์มาศึกษาอย่างละเอียด ด้วยความตั้งใจใคร่รู้และชื่นชมชาวแม่เจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง
แม่เจ้าอยู่หัวคือ พระนางเลือดขาวแห่งเมืองนครฯ
งานการค้นคว้าของชาวแม่เจ้าอยู่หัวเพื่อค้นหา “แม่เจ้าอยู่หัว” ได้บทสรุปว่าคือพระนางเลือดขาว มีเรื่องราวสรุปย่อได้ว่าเป็นบุตรีคหบดีมีอาชีพค้าขาย ณ ชุมชนสุดสายหาดทรายแก้วนครศรีธรรมราช (สันทรายเชียรใหญ่) บิดาเป็นชาวพัทลุงเชื้อสายลังกา (คุลา) มารดาเป็นชาวบ้านเก่าหรือบ้านฆ็อง (บริเวณที่ตั้งวัดแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๕ ไม่ปรากฏพระนามเดิมนอกจากบางกระแสเรียกชื่อว่า “กังหรี” มีพี่ ๒ คน คือ ทวดชีโป (มีรูปปั้นที่วัดพังยอม ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) และพ่อท่านขรัว (มีรูปปั้นที่วัดบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่)
พระนางเลือดขาวเป็นคนงามด้วยเบญจกัลยาณี คือ ผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม และวัยงาม มีนิสัยโอบอ้อมอารี เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลโดยทั่วไป มีเลือดสีขาวแต่กำเนิดจนเป็นที่รับรู้เมื่อคราวช่วยงานในหมู่บ้าน ทำหน้าที่เจียนหมากพลูจนกรรไกรหนีบนิ้วมีเลือดไหลออกมาปรากฏเป็นสีขาวต่อหน้าผู้คนที่มาร่วมงาน จนร่ำลือถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ หรือพระเจ้าสีหราช แห่งนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) ณ เมืองพระเวียง จนคราวศึกเมืองทะรังหรือเมืองกันตังแข็งข้อ หลังชนะศึกชนช้าง (ที่บ้านทุ่งชนในเขตอำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) และรับบรรณาการที่นำมาถวายแล้ว (จนได้ชื่อว่าทุ่งสง-ส่งเครื่องบรรณาการ)
ระหว่างพักแรมกลางทางกลับ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพระสุบินเห็นสตรีมีลักษณะงดงามตามเบญจกัลยาณี มีใจกุศล เป็นคู่บุญบารมี พำนักอยู่ทางทิศใต้ตามเส้นทางหาดทรายแก้ว และมีเลือดสีขาว จึงเมื่อเข้าเมืองนครศรีธรรมราช นมัสการพระบรมธาตุแล้วจึงจัดขบวนเสด็จออกค้นหาจนถึงสำนักพ่อท่านขรัว ได้พบพระนางเลือดขาวที่มารับเสด็จ โดยขณะทอผ้าถวายได้ทำตรน (อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่มีความคมมาก) บาดนิ้วเลือดออกเป็นสีขาว จึงขอพระนางไปเป็นพระนางเมือง เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงให้พราหมณ์ปุโรหิตจัดขบวนหลวงสู่ขอรับเข้าวัง ปรนนิบัติรับใช้ด้วยความจงรักภักดี ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย เป็นที่รักของไพร่ฟ้าแต่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาต่างๆ นานาจากพระสนมอื่น
พระนางเลือดขาวได้รับสถาปนาเป็นแม่เจ้าอยู่หัวหรือพระนางเลือดขาวอัครมเหสี จนเป็นที่เรียกโดยทั่วไปว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว หรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว
พระนางเลือดขาวทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) และเมืองใกล้เคียง สร้างวัดแม่เจ้าอยู่หัวเป็นวัดแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๗๕ (พระชนมายุ ๓๐ พรรษา) ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๙๐ ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จไปเกาะลังกาเพื่อรับพระพุทธสิหิงค์มายังนครศรีธรรมราช และปี พ.ศ. ๑๗๙๙ ได้เสด็จยังเมืองสุโขทัยเพื่อจัดระเบียบสงฆ์ฝ่ายฆราวาส (?-ผู้เขียน) ประทับอยู่นาน ๕ ปี จึงเสด็จกลับนครศรีธรรมราช
พระอุโบสถหลังเก่าวัดพระนางสร้าง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตามตำนานกล่าวว่าพระนางเลือดขาวสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๐ (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้, ๒๕๔๒)
พระนางเลือดขาวได้ขอต่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่าหากสิ้นพระชนม์ลงขอให้นำศพกลับบ้านเกิด ต่อมาข่าวความเดือดร้อนที่พระนางถูกกลั่นแกล้งทราบถึงพ่อท่านขรัว พ่อท่านขรัวได้เดินทางมาขอบิณฑบาตรับแม่เจ้าอยู่หัวกลับบ้านเดิม และทรงอนุญาตพร้อมทั้งให้สร้างวังขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง (บ้านในวัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) แต่การสร้างล่าช้าเพราะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงประวิงเวลาไว้ไม่อยากให้พระนางกลับบ้านเดิม
จนกระทั่งคราวเสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่เมืองทะรัง (ตรัง) ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างทางขณะประทับแรมด้วยกลด (บ้านควนกลด อำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๑๘๑๔ พระศพถูกอัญเชิญกลับสู่เมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง) ตั้ง ณ วัดท้าวโคตร แล้วจัดขบวนทางน้ำตามลำคลองท่าเรือ ออกทะเลปากนคร เข้าแม่น้ำปากพนัง (ปากพระนาง) มาขึ้นฝั่งที่บ้านหน้าโกศ จนถึงสำนักพ่อท่านขรัว (บริเวณวัดบ่อล้อปัจจุบัน) ถวายพระเพลิงแล้วนำพระอัฐิและพระอังคารประดิษฐานในมณฑปสูง ๑๒ วา มีเจดีย์บริวารโดยรอบ ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว
รูปปั้นนางเลือดขาว หน้าพระอุโบสถหลังใหม่ ที่วัดพระนางสร้าง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้, ๒๕๔๒)
พระประธานภายในพระอุโบสถหลังเก่า วัดพระนางสร้าง (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้, ๒๕๔๒)
ในบทสรุปจริงที่ยาวประมาณ ๗ หน้านั้น มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่พ้องจองกับชื่อสถานที่บริเวณอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ และปากพนังในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก พร้อมกับยังมีสรุปพระกรณียกิจที่สำคัญในตอนท้ายอีกว่า ทรงเป็นผู้นำเสด็จพระพุทธสิหิงค์ พระบรมสารีริกธาตุจากลังกา ทรงสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ฐานะพระอรหันต์ฆราวาส (?-ผู้เขียน) ทรงเป็นอรหันต์ฝ่ายฆราวาสแห่ง ๑๒ หัวเมืองนักษัตร เสด็จไปสุโขทัยในนามกษัตริย์นครศรีธรรมราชวางแผนนโยบายด้านศาสนาฝ่ายฆราวาส ทรงปกครองเมืองนครศรีธรรมราชช่วงศึกลังกา (ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงยกทัพไปลังกา) ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างวัดมากมายทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชถึง ๕๔ วัด กับในจังหวัดพัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ภูเก็ต ชุมพรอีกถึง ๒๓ วัด โดยมีภาคผนวกแสดงลำดับกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชระหว่าง พ.ศ. ๑๔๔๖-๑๘๒๐ พร้อมลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เรียง พ.ศ. ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๙๙-พ.ศ. ๑๙๕๐ ไว้ค่อนข้างละเอียดและพิสดารถึง ๑๐ หน้าโดยไม่แน่ชัดในที่มา
คนละองค์กับนางเลือดขาวมะสุหรี ที่ลังกาวี
งานของชาวแม่เจ้าอยู่หัวได้ศึกษาสรุปว่า พระนางเลือดขาวที่แม่เจ้าอยู่หัวเป็นคนละองค์กับที่เกาะลังกาวี ด้วยข้อเปรียบเทียบดังนี้
นางเลือดขาวมะสุหรี เป็นบุตรีของชาวไทยมุสลิมจากเกาะภูเก็ตที่ย้ายไปอยู่เกาะลังกาวีเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน เมื่อเติบโตเป็นคนเลอโฉมจนดะโต๊ะเสรีเกอร์ มรายา เจ้าเมืองลังกาวีใคร่จะได้เป็นภรรยาอีกคน แต่นางมะโฮรา ภริยาไม่ยินยอม ได้สู่ขอนางมะสุหรีให้แก่น้องชายชื่อดารุส แล้วแยกครอบครัวไปอยู่ที่หมู่บ้านมาวัต จนกระทั่งกองทัพไทยยกตีเคดาห์ (ไทรบุรี) เมืองลังกาวีถูกเกณฑ์ทัพไปช่วยรับศึกไทย โดยดารุสถูกมอบหมายให้เป็นคนนำทหารไปรบ
ทางลังกาวี มีชายชื่อดาเร็มบาง ท่องเที่ยวมาจากสุมาตราผ่านบ้าน นางมะสุหรีเชิญดื่มน้ำ แล้วสนทนาคบหาจนเป็นเพื่อนกัน นางมะโฮราซึ่งอิจฉาความงามและความดีของนางมะสุหรีรู้เข้าจึงปล่อยข่าวว่านางมะสุหรีกับดาเร็มบางคบหากันฉันชู้สาว ยุยงดะโต๊ะเสรีให้ขับไล่ดาเร็มบางไปแล้วให้ประหารนางมะสุหรีซึ่งยืนยันในความบริสุทธิ์ แต่ไม่มีใครเชื่อ สุดท้ายเมื่อประหารด้วยอาวุธอะไรไม่ได้ นางมะสุหรีจึงบอกว่ามีแต่กริชของบิดานางเท่านั้นที่สามารถฆ่านางได้ พร้อมกับอธิษฐานยืนยันความบริสุทธิ์ว่าขอให้เลือดปรากฏเป็นสีขาว และคำสาปแช่งลังกาวีเจ็ดชั่วโคตรให้มีแต่ทุกข์ยากและกันดาร ซึ่งปรากฏตามคำอธิษฐานและคำสาป หมู่บ้านมาวัตพร้อมหมู่บ้านอื่นๆ ถูกกองทัพไทยโจมตีทำลายแม้หาดทรายก็กลายเป็นสีดำ
นางมะสุหรีมีลูกชายกับดารุสคนหนึ่ง ปรากฏข่าวว่าปัจจุบันอยู่ที่ภูเก็ต

ไม่มีคำอธิบายถึงนางเลือดขาวที่บางแก้ว พัทลุง ในงานของแม่เจ้าอยู่หัว
ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙ ระบุว่าตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานที่แพร่หลายในท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง มีที่เกิดของตำนานอยู่ที่บ้านพระเกิด อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และน่าจะเป็นต้นตำนานที่แพร่หลายที่สุดเกี่ยวกับนางเลือดขาว แต่ในงานของแม่เจ้าอยู่หัวมิได้กล่าวถึงเลย เพียงแต่เหมือนมีกลิ่นอายบางประการอยู่ภายใน โดยเฉพาะตอนท้ายที่ไปเกาะลังกาและสุโขทัย สรุปดังนี้
หลังพุทธปรินิพพานจนพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตร ได้ทำสงครามปราบปรามแคว้นต่างๆ ในคราวสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ เกิดความเดือดร้อนผู้คนอพยพลงเรือออกนอกประเทศมาทางฝั่งตะวันตกของไทย แล้วแยกย้ายเดินทางข้ามเขาบรรทัดมายังเขตแดนพัทลุงในปัจจุบัน
ในครั้งนั้นมีตายายสองผัวเมีย คือ ตาสามโมกับยายเพชร อยู่ที่ตำบลปละท่า ตะวันตกของทะเลสาบสงขลา (บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุงปัจจุบัน) ตาสามโมเป็นหมอสะดำหรือหมอช้างขวา มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดส่งให้เจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสี ครั้งหนึ่งไปจับช้างป่าจนลุถึงถิ่นพบชาวอินเดีย รู้จักสนิทสนมจนชาวอินเดียยกบุตรีคนหนึ่งให้เป็นบุตรบุญธรรม มีผิวกายขาวให้ชื่อว่านางเลือดขาว ต่อมาได้ไปขอบุตรชายมาอีกคนเพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาว ให้ชื่อว่ากุมาร หรือเจ้าหน่อ
วันหนึ่งตาสามโมตามช้างไปพบนอนทับขุมทรัพย์อยู่ที่คลองบางแก้ว แล้วต่อมาเมื่อแต่งงานนางเลือดขาวกับกุมารแล้วจึงย้ายบ้านไปอยู่ที่บางแก้วเพื่อสะดวกต่อการรักษาทรัพย์สมบัติ จนเมื่อตายายถึงแก่กรรมแล้วกุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองช้าง ทั้งสองนำทรัพย์สมบัติมาสร้างวัดและพระเจ้ากรุงทองมาร่วมสร้างพระมหาธาตุที่วัดเขียนบางแก้ว แล้วสร้างวัดสทังใหญ่ วัดสทิงพระ แล้วจารึกแผ่นทองคำให้ชื่อว่า “เพลานางเลือดขาว” หรือ “เพลาวัดบางแก้ว” หรือ “เพลาเมืองสทิงพระ” ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ จนบางแก้วขยายกลายเป็นชุมชนใหญ่ กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้างเมืองพัทลุงที่โคกเมือง คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าพระยากุมาร
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พบที่วัดพระนางสร้าง (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้, ๒๕๔๒)
ราว พ.ศ. ๑๔๙๓ เมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชเมืองนครศรีธรรมราชส่งทูตไปสืบค้นหาพระบรมสารีริกธาตุที่เกาะลังกา เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวจึงไปสมทบลงเรือที่กันตัง กลับจากลังกาเมื่อทูตเมืองนครศรีธรรมราชอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธสิหิงค์มาด้วย ระหว่างทางเจ้าพระยากุมารและนางเลือดขาวได้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์พระพุทธสิหิงค์ พร้อมจำลองพระพุทธสิหิงค์ไว้ ๑ องค์ที่เมืองตรัง แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว ฉลองพร้อมวัดพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองตรัง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๙๖
ครั้งหนึ่งได้เคยเดินทางเที่ยวถึงเมืองนครศรีธรรมราช สร้างสาธารณประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนม พอดีข่าวความงามของนางเลือดขาวร่ำลือถึงสุโขทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัยให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์คุมขบวนเรือนางสนมออกไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะทรงชุบเลี้ยงเป็นพระมเหสี แต่ทรงทราบว่ามีสามีและครรภ์ติดมาด้วย จึงให้อาศัยอยู่จนคลอดบุตรแล้วทรงขอไว้
นางเลือดขาวทูลลากลับเมืองพัทลุง ระหว่างทางตามแม่น้ำปากพนังแวะพำนักอยู่บ้านควง (น่าจะเป็นบ้านฆ็อง-ผู้เขียน) หลายวัน ได้สร้างวัดแม่อยู่หัวเลือดขาว (ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วไปอยู่กับเจ้าพระยากุมารที่บ้านพระเกิด แต่นั้นมาคนนิยมเรียกว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” “นางพระยาเลือดขาว” “พระนางเลือดขาว” ด้วยเข้าใจผิดว่านางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
เจ้าพระยากุมารและนางเลือดขาวนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำบุญสร้างวัดมากมายรายรอบทะเลสาบสงขลา ปกครองเมืองพัทลุงจนแก่ชรา ทางฝ่ายสุโขทัยได้ส่งบุตรออกมาเป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าฟ้าคอลาย ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน และมีสักลวดลายตามร่างกายอย่างชาวเมืองเหนือ จนอายุได้ประมาณ ๗๐ ปี เจ้าพระยากุมารและนางเลือดขาวก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายได้ทำพิธีศพที่วัดพระเกิดแล้วนำอัฐิไว้ที่บ้านบางแก้ว

เอาเค้าจากวัดนางตราที่ท่าศาลาของคุณกำพล จรุงวาส ที่ยังไม่เคยพบที่อื่นอีก
ในภาคผนวกตอนหนึ่งของรายงาน ได้นำประวัติวัดนางตราที่เขียนโดยคุณกำพล จรุงวาส ผู้ช่ำชองในเรื่องพระพิมพ์คนหนึ่ง ที่อ่านดูแล้วจับความได้ว่าน่าจะเป็นเค้าหลักของรายงานฉบับนี้ เพราะระบุว่าวัดนางตราสร้างโดยพระนางเลือดขาว มเหสีของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นบุตรีของคหบดีที่บ่อล้อ “ในวัยรุ่นดรุณี พระนางเลือดขาวจัดเป็นหญิงที่มีสิริรูปสะคราญตา งามเลิศเพริศพริ้งเพียบพร้อมด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี คือ มีใบหน้างาม เนื้องาม นมงาม นิ้วงาม และน่องงาม กอปรด้วยอุปนิสัยเยือกเย็น สุขุมคัมภีรภาพ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีเมตตา และมีใจเป็นกุศล ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลใกล้เคียงและชอบทำบุญทำทานอยู่เป็นประจำมิได้ขาด” จากนั้นก็มีเรื่องราวคราวเจียนหมากพลูกรรไกรหนีบเลือดออกสีขาว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาสู่ขอ และการสร้างวัดต่างๆ รวมทั้งวัดแม่เจ้าอยู่หัวและวัดนางตรา
ในขณะที่เอกสารอื่นๆ ว่าด้วยวัดนางตราไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับนางเลือดขาวเลย แทบทุกฉบับกล่าวถึงพระนางสุภัทราหรือพระนางสุพัตรา เครือญาติของพระพนมวังและนางสะเดียงทอง ในยุคใกล้เคียงกับการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชคราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ที่นำเรือ ๓๐๐ ลำ บรรทุกทรัพย์สินสิ่งของเพื่อจะร่วมบูรณะพระบรมธาตุแต่เรือเกิดล่มในบริเวณนี้ จึงร่วมกับบริวารนำทรัพย์สินสิ่งของสร้างวัดขึ้น เรียกว่าวัดพระนางสุภัทรา ภายหลังกร่อนเป็นวัดพนังตรา วัดพระนางตรา และวัดนางตราในที่สุด

นางเลือดขาวทั้งสามที่ปากใต้
จากเค้าเรื่องนางเลือดขาวทั้งสามที่ยกมาข้างต้น แม้จะยังมีตำนานนางเลือดขาวอีกหลายสำนวน หลายท้องถิ่น โดยสำนวนเมืองพัทลุงนับเป็นสำนวนหลักที่แพร่หลายกว้างขวางมานาน พอจะเปรียบเทียบแง่มุมระหว่างสามสำนวนเพื่อหาบทสรุปและความเข้าใจได้ว่า นางเลือดขาวคือแบบอย่างของผู้หญิงดีและมีบุญแห่งเมืองใต้ ในละแวกเครือข่ายความสัมพันธ์ทางภูมินิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปากพนัง ตรัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่พัทลุง สงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานโบราณสถาน วัตถุ และชื่อบ้านนามเมืองสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ในลักษณะตำนานปรัมปราประจำแต่ละท้องถิ่น ผูกให้เชื่อว่าน่าจะเก่าแก่สัมพันธ์ถึงยุคสร้างบ้านสร้างเมืองในบริเวณนี้ มีเรื่องราวที่สรุปไม่ได้ชัดว่าเป็นของดั้งเดิมหรือเติมแต่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับลังกาและสุโขทัย แต่สอดประสานยุคสมัยได้อย่างดี โดยเฉพาะที่เกาะลังกาวีนั้นน่าจะมีอิทธิพลจากเรื่องนางเลือดขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตรัง ปากพนัง ไปสร้างเรื่องใหม่ตามเงื่อนไขของสังคมวัฒนธรรมประเพณี ดังตารางเปรียบเทียบท้ายนี้
นางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัวของชาวแม่เจ้าอยู่หัว
จากเอกสารรายงานและบทนำเสนอด้วยวาจาของหัวหน้าคณะ คือผู้ใหญ่ชลอ เอี่ยมสุทธิ์ ได้เน้นย้ำว่าไม่ได้ต้องการประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำเต็มร้อย แต่มุ่งกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยมีคณะทำงาน สัมภาษณ์ สำรวจเก็บข้อมูล ให้ชาวชุมชนช่วยกันเล่าและเขียน แล้วตรวจสอบ นำมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนหาบทสรุปแล้วร่วมกันเขียนหลายระดับ ทั้งเวทีย่อย เวทีใหญ่ จนถึงเวทีร่วมที่ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของจังหวัด ร่วมร้อยรัดผู้คนในสำนึกแห่งพี่น้องชาวชุมชนเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน อยู่ร่วมกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เอาธุระซึ่งกันและกัน แล้วช่วยกันสร้างประวัติแม่เจ้าอยู่หัวของชุมชนขึ้นใหม่เพื่อใช้กับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการสร้างความหมายโดยคนในชุมชนเอง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่คนภายนอกสร้างความหมายและยัดเยียดให้ เกิดเป็นทุนทางสังคมที่ชุมชนร่วมเรียนรู้ และลงมือ ในสิ่งที่เชื่อ ชอบ แล้วช่วยกัน เป็นพลังสามัคคีก่อความเข้มแข็งให้ชุมชน อันเป็นฐานของการร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป
โดยในเบื้องต้นนอกจากบทสรุปประวัติที่ช่วยกันเขียนแล้ว ยังได้ข้อมูลเรื่องราวสานเครือข่าย “นางเลือดขาว” อย่างกว้างขวางทั่วทั้งภาคใต้ เฉพาะที่ชุมชนแม่เจ้าอยู่หัวได้เกิดเป็นกระบวนการศรัทธาและภาคภูมิใจในเครือญาติและท้องถิ่นบนฐานจรรยาบรรณที่ดีงามตามแบบอย่างนางเลือดขาว ก่อกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่การสร้างเป็นหลักสูตรท้องถิ่น การรวมพลังทอดกฐินสร้างรูปเคารพ ศาลา จารึก โดยมีทิศทางการพัฒนาต่อเป็นศูนย์เรียนรู้และการจัดงานประเพณีของชุมชนต่อไป
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าอาการคาใจของใครต่อใครว่าแม่เจ้าอยู่หัวคือใคร ที่สะสมจนเจ้าของท้องที่เองลุกขึ้นมาไขข้อข้องใจกันเอง จนเขียนเป็นประวัติฉบับชาวแม่เจ้าอยู่หัวจะมีพลังสร้างคุณูปการแก่ชุมชนได้มากถึงเพียงนี้ ยิ่งได้รับการขานรับจากชุมชนอื่นๆ ตลอดจนกระทั่ง สกว.เองยกให้เป็น ๑ ใน ๑๕ โครงการและผลงานวิจัยเด่นประจำปี ๒๕๔๕ ด้วยการเน้นย้ำว่า
“…สิ่งที่สำคัญคือ สำนึกร่วมของชุมชนที่ได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้และทำงานวิจัย เกิดความสมัครสมานสามัคคีและได้เครือญาติทางประวัติศาสตร์ งานวิจัยยังฉายภาพชัดถึงความร่วมมือในกลุ่มภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้าน ศรัทธาเดิม และที่มาที่ชัดเจนขึ้นของแม่เจ้าอยู่หัว ได้ร้อยรัดให้ชาวชุมชนเชื่อมั่นต่อคุณความดี เป็นพลังผลักให้เกิดการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนในรูปแบบอีกหลากหลายในเวลาต่อมา”

ข้อสังเกตส่งท้ายด้วยความชื่นชมอยากมีส่วนร่วม
ภายใต้ความเข้มแข็งโดดเด่นด้านกระบวนการที่มิได้เน้นความถูกถ้วนทางประวัติศาสตร์ดังที่โครงการระบุไว้ชัด ด้วยทิศทางที่กำลังก่อและขยายตัวของ “แม่เจ้าอยู่หัวนางเลือดขาวเมืองนครฯ” นี้ ควรที่จะได้รับการสานต่อเสริมสิ่งที่ชุมชนชาวแม่เจ้าอยู่หัวได้เริ่มแล้วเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า “พึงระวังการทำประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นตำนาน แต่ควรทำตำนานให้เป็นเสมือนประวัติศาสตร์” ซึ่งงานของชาวแม่เจ้าอยู่หัวนี้ยังขาดการรวบรวม ประมวล ตรวจสอบ สังเคราะห์อีกหลายประเด็น มีลักษณะค้นหาเชิงเชิดชูศรัทธาเข้าหาศูนย์กลาง มากกว่าการเชื่อมโยงยอมรับนับถือเป็นเครือข่าย ที่อาจจะสร้างความคลาดเคลื่อนขยายเป็นความขัดแย้งเชิงลึกระหว่างต่างชุมชนในสายศรัทธานางเลือดขาว หรือยิ่งทำให้กลายเป็นเรื่องปรัมปรากร่อนคุณค่าและความหมายไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ผมมีสมมุติฐานว่านางเลือดขาวหลักนั้นยังน่าจะเป็นตามตำนานทางพัทลุงที่เคยเดินทางผ่านมาสร้างวัดแม่เจ้าอยู่หัว (ที่ตำบลแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) เมื่อคราวกลับจากสุโขทัย โดยงานนี้ได้นำเรื่องราวฉบับคุณกำพล จรุงวาส (ที่ไม่ทราบที่มาและต่างจากตำนานอื่นๆ-ผู้เขียน) มาประกอบตอนต้น ประมวลกับชื่อบ้านนามเมืองเรื่องเล่าในชุมชนท้องถิ่น และลำดับกษัตริย์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช (ที่ไม่ทราบที่มา-ผู้เขียน) มาแต่งต่อเติมด้วยความพยายามที่จะทำเรื่องราวและประวัติศาสตร์ให้ชัด ทั้งๆ ที่ออกตัวไว้แต่ต้นแล้วว่าไม่ได้หวังให้ได้ชัด
บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความชื่นชมเชื่อมั่นในชุมชนชาวบ้าน ในกระบวนการของชาวบ้าน ด้วยการเข้าไปร่วมและสานต่อสิ่งที่ชุมชนชาวบ้านได้ริเริ่มทำให้เห็นเป็นต้นเค้าตัวอย่างแล้ว ควรจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมพัฒนาให้สมบูรณ์เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นต่อไป ตามกำลังซึ่งผมมีสติปัญญาเพียงเท่านี้ ใคร่ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายช่วยกันเสริมเติมติติง โดยเฉพาะข้อสังเกตต่างๆ ของผมที่น่าจะไม่เข้าท่าอยู่ไม่น้อย

บรรณานุกรม
ชลอ เอี่ยมสุทธิ์ และคณะ. โครงการการเรียนรู้ประวัติแม่เจ้าอยู่หัวอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนแม่เจ้าอยู่หัว, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. พระพิมพ์กรุวัดนางตรา. ในสารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
บุญเสริม แก้วพรหม. พระนางตรา : หนึ่งในสุดยอดพระเครื่องเมืองนคร, ชุดท่าศาลาคดีศึกษา ลำดับ ๔, สำนักพิมพ์นาคร มีนาคม ๒๕๔๒
ตำนานนางเลือดขาว, สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙, สถาบันทักษิณคดีศึกษา, พ.ศ. ๒๕๒๙



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น