วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระนางพิมพาภิกษุณีเถรี ผู้เป็นเลิศในอภิญญาใหญ่กว่าภิกษุณีทั้งปวง

ในภาพอาจจะมี 2 คน, สถานที่ในร่ม และ อาหาร

วันพรุ่งนี้วันพระใหญ่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ 
  • ซึ่งเป็นวันคล้ายวันนิพพานของพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี หรือพระนางภัททากัจจานาเถรี พระเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในอภิญญาใหญ่กว่าภิกษุณีทั้งปวง 
  • ทรงเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ พระอารามภิกษุณี กรุงสาวัตถี ในพรรษาที่ ๔๓ แห่งพระสมเด็จผู้มีพระภาค สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรีทรงมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา

คำว่าได้อภิญญาใหญ่นั้น หมายถึงพระสาวกผู้ที่ได้อภิญญา และสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป ในขณะที่พระสาวกผู้ที่มิได้อภิญญาใหญ่นั้นสามารถระลึกชาติได้ไม่เกินแสนกัปเท่านั้น 
  • ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่านนั้นก็คือ คือ 
    • พระสารีบุตรเถระ 
    • พระมหาโมคคัลลานะเถระ 
    • พระพากุลเถระ 
    • และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) 
    • สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้
  • พระภัททากัจจานาเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไป

ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
  • แม้พระนางนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือเอาปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ในกาลต่อมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศ ของเหล่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาอย่างใหญ่ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้น ไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น นางเวียนว่ายตายเกิดในเทวดาและมนุษยโลก ตลอดแสนกัป

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์
  • ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น
    • เกิดเป็นมารดาของเนื้อชื่อ ลักขณะ และ กาฬะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบิดา ในลักขณชาดก
    • เกิดเป็นสุภัททาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใน มหาสุทัสสนชาดก
    • เกิดเป็นภรรยา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบุรุษผู้ละบุตรและภรรยาออกบวช ในพันธนาคารชาดก
    • เกิดเป็นกาชื่อ สุปัสสา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกาชื่อ สุปัตตะ ใน สุปัตตชาดก
    • เกิดเป็นภรรยาของเศรษฐี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น วิสัยหเศรษฐี ใน วิสัยหชาดก
    • เกิดเป็นพระมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก
    • เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ใน อัพภันตรชาดก
    • เกิดเป็นนางสัมมิลลหาสินี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส ใน อนนุโสจิยชาดก
    • เกิดเป็นธิดาของหัวหน้าช่างเหล็ก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นหัวหน้าช่างเหล็ก ใน สูจิชาดก
    • เกิดเป็นแม่ของสิงห์โตชื่อ มโนชะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อ ใน มโนชชาดก
    • เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสุสีมะ ใน สุสีมชาดก
    • เกิดเป็นพระราชเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระราชา ใน กุมมาสปิณฑชาดก
    • เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าอุทัยราช ใน คังคมาลชาดก
    • เกิดเป็นพระสุททวิชยาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเภรุวราช ใน อาทิตตชาดก
    • เกิดเป็นนางนกจักรพราก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนกจักรพราก ใน จักกวากชาดก
    • เกิดเป็นนางปริพพาชิกา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นปริพพาชก ใน จุลลโพธิชาดก
    • เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพาราณสี ในปานียชาดก
    • เกิดเป็นจันทากินรี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจันทกินนร.ในจันทกินนรชาดก
    • เกิดเป็นนางนาคกัญญาสุมนาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจัมเปยยนาคราช ในจัมเปยยชาดก
    • เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอลีนสัตตุราชกุมาร ในชัยทิสชาดก
    • เกิดเป็นพระนางประภาวดี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุสราช ในกุสชาดก
    • เกิดเป็นสีวลีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกนรินทรราช ใน มหาชนกชาดก
    • เกิดเป็นพระนางจันทาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ในจันทกุมารชาดก
    • เกิดเป็นภริยาใหญ่ของบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ในวิธุรชาดก
    • เกิดเป็นนางอมรา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ใน มโหสถชาดกบัณฑิต
    • เกิดเป็นพระนางมัทรีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรราช ใน เวสสันดรชาดก
    • เป็นต้น...

“มาประสูติเป็นราชธิดาในโกลิยวงศ์ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า”
  • ...ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านได้มาปฏิสนธิในโกลิยวงศ์ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระนางอมิตาเทวี แห่งกรุงเทวทหะ มีพระเชษฐาคือ พระเทวทัต ในเวลาขนานพระนาม พระประยูรญาติก็ได้เฉลิมพระนามว่า ภัททากัจจานา ก็เพราะผิวพรรณ แห่งสรีระของพระนางนั้นเป็นเหมือนทองคำชั้นดีที่สุด
  • พระนางทรงประสูติในวันเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสแห่งพระนางสิริมหามายา (ผู้เป็นพระน้องนางของพระเจ้าสุปปพุทธะ) และพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงมีพระประสูติกาล นับเป็น ๑ ใน ๗ อย่างที่มีกำเนิดพร้อมกันกับพระโพธิสัตว์ คือ ๑ โพธิพฤกษ์ ๒ พระนางภัททากัจจานาราหุลมารดา ๓ ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ แห่ง ๔ ม้ากัณฐกะ ๕ พระอานนท์ ๖ นายฉันทะ และ ๗ พระกาฬุทายี ทั้ง ๗ อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสหชาติกับพระโพธิสัตว์ เพราะเกิดในวันเดียวกัน
  • เมื่อเติบใหญ่แล้วพระนางทรงมีความงามอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง พระนางรูปนันทา ซึ่งทรงความงามอย่างยิ่งจนได้สมญาว่า ชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียบเทียม
  • เมื่อราชกุมาร และ ราชกุมารี ทั้งสองเติบใหญ่จนพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้ทรงอภิเศกสมรสกัน ด้วยมีความเหมาะสมทั้ง ชาติวุฒิ และ วัยวุฒิ ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระนางก็ทรงพระครรภ์ เมื่อครบกำหนดแล้วในวันที่จะมีพระประสูติกาลพระโอรสนั่นเอง เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงออกประพาสเมือง ทรงเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตายก็บังเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายในโลกียวิสัยมีความปรารถนาจะออกบวช ในคืนนั้นเองเจ้าชายสิทธัตถะจึงได้ทรงออกมหาภิเนษกรมน์

ทรงปฏิบัติพระองค์เอาอย่างพระสวามี
  • แม้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ทรงออกจากพระราชวังในนครกบิลพัสดุ์ไปแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาและพระญาติพระวงศ์ต่างก็คอยติดตามข่าวคราวของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่เสมอ ในส่วนของพระราชานั้น ครั้งหนึ่ง ในคราวที่พระผู้มีพระภาคทรงทำทุกรกิริยา ก่อนที่จะทรงตรัสรู้นั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาพระเจ้าสุทโธทนะแล้วกล่าวว่า พระโอรสของพระองค์สวรรคตแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่เชื่อคำของเทวดานั้น ได้ทรงยืนยันความเชื่อของพระองค์ต่อเทวดานั้นว่า “บุตรของเรา ยังไม่บรรลุพระสัมโพธิญาณจะยังไม่ตาย “ ดังนี้
  • ในส่วนของพระนางภัททากัจจานา นั้นด้วยความรักและความนับถือเป็นอย่างยิ่งในพระสวามี เมื่อท่านได้ฟังข่าวว่า พระสวามีทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ตั้งแต่นั้นก็ทรงผ้ากาสาวะบ้าง ได้สดับว่าพรสวามีเสวยภัตหนเดียว ก็เสวยภัตหนเดียวบ้าง ทรงสดับว่าพระองค์ทรงละที่นั่งที่นอนใหญ่ ก็ทรงบรรทมเฉพาะบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า ทรงทราบว่าพระองค์ทรงละเว้นจากของหอมมีดอกไม้เป็นต้น ก็ทรงงดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง ดังนี้เป็นต้น ได้ทรงปฏิบัติเช่นนี้ จนเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา
  • ครั้นตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดง พระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ "ยสะ" ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒-๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
  • จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์
  • ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก
  • หลังจากที่ได้ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะ และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ต่อพระสงฆ์อรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในที่ประชุมนั้นแล้ว ต่อจากนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์นั้นออกไปประกาศพระพุทธศาสนา

พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว
  • กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
  • พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวันซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับโดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น

“พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์”
  • ...วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอข้าว พระนางภัททากัจจานาได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว
  • พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร

“พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ”
  • ...พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี
  • พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น
  • ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล ตรัสพระคาถาบทหนึ่ง เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสนมทั้งปวงยกเว้นพระนางภัททากัจจานาพากันมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

“พระนางภัททากัจจานาบรรลุพระโสดาบัน”
  • ...แม้นางพระกำนัลทั้งหลายจะกล่าวทูลเชิญให้เสด็จไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสว่า ถ้าคุณของเรามีอยู่ไซร้ พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังสำนักของเราด้วยพระองค์เองทีเดียว เราจักถวายบังคมพระลูกเจ้านั้นผู้เสด็จมาเท่านั้น ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็มิได้เสด็จไป
  • พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระราชาถือบาตรแล้วเสด็จไปยังที่ประทับของพระนางภัททากัจจานา พร้อมกับพระอัครสาวกทั้งสองแล้วตรัสกับพระอัครสาวกทั้งสองว่า เมื่อพระนางภัททากัจจานามาถวายบังคม พึงปล่อยให้พระนางกระทำตามชอบใจ ไม่พึงกล่าวคำอะไร ๆ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ พระนางภัททากัจจานาเสด็จมาโดยเร็ว จับข้อพระบาททั้งสอง เกลือกพระเศียรบนหลังพระบาท ถวายบังคมตามพระอัธยาศัย
  • พระเจ้าสุทโธทนะตรัสความที่พระนางภัททากัจจานามีความรักและความนับถืออย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอเนกประการ พระศาสดาตรัสว่า แม้ในอดีตชาติ พระนางภัททากัจจานาก็ทรงเป็นดังนั้น แล้วทรงตรัสเล่าจันทกินรีชาดก เมื่อจบชาดกนั้น พระนางทรงบรรลุโสดาปัตติผล แล้วพระผู้มีพระภาคลุกจากอาสนะเสด็จกลับไป

“พระนางภัททากัจจานาทรงพรรพชาเป็นพระภิกษุณี”
  • ...ต่อมาเมื่อ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงบรรลุพระอรหัตภายใต้เศวตฉัตรและปรินิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นาง ก็ทูลขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา หลังจากที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรพชาแล้ว พระนางภัททากัจจานา ก็ทรงดำริว่า พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็สวรรคตไปแล้ว พระสวามีก็ทรงออกบวชไปแล้ว ราหุลราชกุมารก็บรรพชาไปแล้ว พระญาติพระวงศ์ต่างก็ทรงผนวชตามเสด็จไปเป็นอันมาก บัดนี้ไม่เหลือกิจอันใดที่จะต้องทรงทำในพระราชวังแล้ว ดังนั้นพระนางจึงได้เสด็จไปยังสำนักแห่งพระนางปชาบดีเถรี และทูลขอบวช พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีก็ทรงบวชให้ตามพระประสงค์
  • ครั้นเมื่อบวชแล้วก็ทรงบำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือนก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย เป็นหนึ่งในสี่พระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่ ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ โดยในระหว่างสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งนั้น จะมีอริยสาวกที่ได้อภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่าน ซึ่ง ๔ ท่านนั้นในสมัยของพระโคตมพุทธเจ้าก็คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา)นี้ โดยพระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่นั้น จะสามารถระลึกชาติได้ถึง อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป โดยการระลึกถึงครั้งเดียว ส่วนผู้ได้อภิญญาปกตินั้นจะระลึกได้ไม่เกินแสนกัป

ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่
  • ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททากัจจานาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่
พระสารีบุตรเถระถวายรสมะม่วงแก่พระพิมพาเถรี
  • สมัยหนึ่ง เมื่อพระเถรีบวชแล้วอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ครั้นวันหนึ่ง ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเถรีนั้นไม่สามารถจะออกมาพบได้ ภิกษุณีอื่นๆ จึงมาบอกว่า พระเถรีไม่สบาย
  • ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า พระองค์ควรจะได้ยาอะไร ?
  • พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ในคราวยังครองเรือน มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน

ราหุลสามเณรทูลว่า เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา แล้วก็ออกไป
  • ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ มีพระอานันทเถระเป็นอาว์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่
  • ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า ดูก่อนราหุล เหตุไรหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่
  • ราหุลสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โรคลมในท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม กำเริบขึ้น

พระเถระถามว่า ได้อะไรจึงจะควร ?
  • ราหุลสามเณรเรียนว่า พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด
พระเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักได้มา เธออย่าคิดไปเลย
  • ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงจำนวนห่อหนึ่งมาถวาย พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำด้วยพระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร
  • พระเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า เธอจงนำรสมะม่วงนั้นไปให้มารดาของเธอ ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว พอพระเถรีบริโภคแล้วเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบ
  • ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระ-เถระให้ใคร ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
  • พระราชาทรงพระดำริว่าถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักรวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่

จำเดิมแต่นั้น พระเจ้าโกศลรับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ
  • "พระนางภัททากัจจานาทรงกราบถวายบังคมลาพระผู้มีพระภาคเพื่อดับขันธ์"
  • ...ครั้นเมื่อพระเถรีมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา พระเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบถวายบังคมลา เพื่อเสด็จดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้น
  • พระมีผู้พระภาคทรงตรัสให้พระเถรีแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด
  • พระยโสธราเถรีจึงได้แสดงฤทธิ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล แสดงศีรษะเท่าอุตรกุรุทวีป แสดงแขนสองข้างเท่าทวีปทั้งสอง แสดงสรีระเป็นต้นหว้าประจำทวีปมีกิ่งด้านใต้มีลูกเป็นพวง กิ่งต่างๆ ก็มีลูกดก แสดงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เป็นนัยน์ตา แสดงเขาสุเมรุเป็นกระหม่อม แสดงเขาจักรวาลเป็นหน้า เอาต้นหว้าพร้อมทั้งรากทำเป็นพัดเดินเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดาผู้เป็นนายกของโลก
  • แสดงเป็นช้าง เป็นม้า ภูเขา และทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เขาสุเมรุ และท้าวสักกเทวราช พระเถรีเอาดอกไม้ปิด โลกธาตุทั้งพันเอาไว้ และนิรมิตเป็นเพศพรหมแสดงสุญญตธรรมอยู่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันผู้ชื่อว่า ยโสธราขอถวายบังคมพระยุคลบาท หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
  • หม่อมฉันทั้งหลายเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนา หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำเสร็จแล้ว หม่อมฉันทั้งหลายได้ทุกขวิบัติมากอย่าง และสุขสมบัติก็มากอย่างเช่นนี้ถึงพร้อมแล้ว ซึ่งความเป็นผู้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง
  • บุคคลผู้ถวายตนของตนแก่พระเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่บุญ ก็ย่อมพรั่งพร้อมไปด้วยสหาย ลุถึงนิพพานบทเป็นอสังขตะกรรมทั้งปวง ส่วนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหม่อมฉันทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาท
  • พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน เราจะกล่าวอะไรให้ยิ่งกะเธอทั้งหลายเล่า แล้วพระเถรีก็ได้กราบถวายบังคมลากลับไป และได้ทรงดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้นเอง
  • สมัยนั้น มนุษย์และเทวดาแต่บรรดาที่ยังเป็นปุถุชนตัดความรักอาลัยไม่ขาดไปจากขันธสันดาน เมื่อได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว ต่างก็พากันโศกาดูรร่ำไห้เสียงเซ็งแซ่ควรจะสงสาร ส่วนท่านที่เป็นอรหันตอริยบุคคลมีองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ก็บังเกิดธรรมสังเวชในหฤทัยทุกถ้วนหน้า คราทีนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราชเจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ จึงทรงมีเทวโองการให้อัญเชิญพระศพมาชำระสระสรงด้วยอุทกวารี แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นใหญ่ จึงถวายผ้าเนื้อละเอียดให้หุ้มห่อบรมศพแห่งพระเถรี เหล่าเทวดาและมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็ปลดเปลื้องเครื่องประดับออกจากกาย ถวายให้เป็นเครื่องประดับพระศพกันมากมายหนักหนา มีคำที่พระโบราณาจารย์พรรณนาไว้ว่า พระบรมศพของสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าในวันนั้น ทรงไว้ซึ่งความงามโสภายิ่งกว่าเทพอัปสรสวรรค์ทุกชั้นฟ้าเสียอีก
  • ลำดับนั้น ท่านท้าวสุทธาวาสมหาพรหมผู้วิเศษ ซึ่งด่วนจรมาแต่สุทธาวาสพรหมโลกด้วยศรัทธาเลื่อมใส ก็อธิษฐานใจเนรมิตด้วยพรหมฤทธิ์ ให้เป็นหีบทองเข้ารองรับพระศพใส่ไว้เป็นอันดี ฝ่ายสมเด็จท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช ก็เนรมิตด้วยเทพฤทธิ์ ให้บังเกิดเป็นเมรุทองมียอดได้ ๕๐๐ ยอด มีสัณฐานงดงามรุ่งเรืองเลื่อม พรรณรายกอปรไปด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร นอกจากพรหมและเทวดาจักเนรมิตด้วยฤทธิ์แห่งตนแล้ว บรรดามนุษย์ทั้งหลายต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาด้วยฉัตรธงเป็นอาทิ แล้วก็อัญเชิญพระบรมศพขื้นสู่พระเมรุทองประโคมด้วยดุริยดนตรีเสียงพิลึกกึกก้องโกลาหล
  • สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่องค์อมรินทราธิราชซึ่งประทับยืนอยู่ในขณะนั้นว่า เราตถาคตจะประทานเพลิงศพเจ้าพิมพาก่อนผู้อื่นใดในกาลบัดนี้ สมเด็จท้าวโกสีย์ผู้ใหญ่ในไตรตรึงษ์สรวงสวรรค์ ได้สดับพระพุทธฎีกาดั่งนั้น ก็มิได้ทรงรอช้าให้เสียเวลา น้อมนำเอาเพลิงอันเกิดแต่แว่นแก้วมณีเข้าทูลถวายทันที สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาเพลิงมาแต่หัตถ์ท้าวโกสีย์ แล้วก็ทรงประทานเพลิงต่อจากนั้น จึงพระพรหมเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็เข้าถวายเพลิงเป็นลำดับไปในภายหลัง เพลิงที่มนุษย์และเทวดาถวายก็ดี เตโชธาตุที่บังเกิดขึ้นเองก็ดี ทั้งสองสิ่งนี้ได้รวมกัน เผาผลาญบรมศพสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเจ้าให้เป็นเถ้าถ่านละเอียดจุณวิจุณ แต่มาตรว่าพระอังคารก็มิได้เหลือหลง ยังคงมีแต่พระธาตุซึ่งมีพรรณอันงามดุจดอกมณฑาเท่านั้น
  • ครั้นการถวายพระเพลิงบรมศพพระนางซึ่งมีคุณใหญ่ เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช จึงทรงกราบทูลองค์พระจอมไตรโลกนาถขึ้นในขณะนั้นว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าท่านดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานครั้งนี้ ปรากฏว่ามีมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์ พากันมาสักการบูชาและถวายพระเพลิงมากมายยิ่งหนักหนา ควรจะเห็นว่ามากกว่าพระอรหันต์สาวกที่ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไปแล้วทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้บรมธาตุอันมีพรรณงามดุจดังดอกมณฑา แห่งสมเด็จพระนางพิมพา เถรีที่เหลือปรากฏอยู่นี้ ควรจักนำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ใด พระเจ้าข้า" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเสาวนาการพระราชปุจฉาดังนั้น จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งองค์ราชาธิบดีปเสนทิโกศล ให้ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ สถานที่อันควรแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุสีดอกมณฑา แห่งองค์พระพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า เพื่อให้เหล่าเทวดาอินทร์พรหมและมนุษย์ ที่มีน้ำใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาได้กระทำคารวะสักการบูชาสืบต่อไปชั่วกาลนาน ด้วยประการฉะนี้ วันนี้จึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ให้ระลึกถึงคุณงามความดีเป็นสังฆานุสติอีกวันหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น