วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ไขปริศนาปราสาทพนมรุ้ง 1

ไขปริศนาปราสาทพนมรุ้ง


  • ถ้าผมพูดว่า "ปราสาทพนมรุ้งเป็นหลักฐานแสดงการแกว่งของแกนโลก" ท่านจะเชื่อผมไม้ ....... ถ้างั้นลองตามผมมาซิครับ 
  • ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง สูง 1,320 ฟุต ( 396 เมตร) จากระดับน้ำทะเล ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อพนมรุ้ง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่ เชื่อว่าสร้างขึ้นโดยเจ้านายขอมในท้องถิ่นชื่อ นเรนทราทิตย์ ในราวคริสตศตวรรษที่ 12 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรขอมกำลังรุ่งเรืองอย่างมากตรงกับสมัยพระเจ้า สุริยะวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – 1693) ผู้สร้างปราสาทนครวัด ปราสาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับช่องประตู 15 ช่อง และส่องลำแสงเข้าไปตามทางยาว 75 เมตร กระทบกับศิวะลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางทำให้ดูเรือง อร่าม อย่างน่าเกรงขาม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงถือเอาเรื่องนี้เป็นจุดขายที่สำคัญในการดึง ดูดนักท่องเที่ยวโดยจัดงานเดิน ขึ้นเขาพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ( เมษายน) ของทุกปี แต่ในความเป็นจริงทางวิชาดาราศาสตร์ ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดประตู 15 ช่อง กับวัน ขึ้น 15 ค่ำ เป็นหนังคนละม้วนกัน เพราะดวงอาทิตย์เป็นปฏิทินสุริยะคติ ส่วนดวงจันทร์เป็นปฏิทินจันทรคติ นานๆจะโคจรมาตรงกันสักครั้ง เช่น วันที่ 4 เมษายน 2547 แสงอาทิตย์ยามเช้าลอดประตู 15 ช่อง และตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ หากต้องการจะเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ต้องรอให้ถึงวันที่ 4 เมษายน 2558
  • จาก การที่ได้ศึกษาข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องปราสาทขอมจำนวนมากทั้งใน ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พบว่าส่วนใหญ่มีการวางแปลนให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ กับหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ปราสาทพนมรุ้งอยู่ในข่ายหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยมุมกวาด 84.5 องศา จากทิศเหนือ (Azimuth 84.5) หรืออีกนัยหนึ่ง เบี่ยงออกจากทิศตะวันออกแท้ไปทางทิศเหนือ 5.5 องศา จึงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น และตก ตรงกับประตูทั้ง 15 ช่อง รวม 4 ครั้ง ต่อปี ได้แก่ ตอนเช้า 2 ครั้ง คือ วันที่ 4 เมษายน และ 9 กันยายน ส่วนตอนเย็น 2 ครั้ง คือ วันที่ 7 มีนาคม และ 6 ตุลาคม ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ผู้ออกแบบคำนวณผิด แต่เป็นความตั้งใจให้ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ใน “ ราศีเมษ ” (Zodiac Aries) เพราะเป็นราศีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู เรียกชื่อตามภาษาสันสกฤตว่า “ มหาสังกรานติ ” เป็นที่มาของวัน “ มหาสงกรานต์ ” ของชาวไทย ซึ่งตามหลักโหราศาสตร์อธิบายชัดเจนว่าเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจาก “ ราศีมีน ” (Zodiac Pisces) เข้าสู่ “ ราศีเมษ ”
  • ทำไมปราสาทพนมรุ้งจึงมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ส่องลอดประตู 15 ช่อง ในวันที่ 4 เมษายน ซึ่งไม่ใช่วัน "วสันตวิษุวัต" (21 มีนาคม) เหมือนกับปราสาทขอมจำนวนมากที่เมืองหลวง "นครอังกอร์" และปราสาทขอมบางแห่งในประเทศไทย เช่น ปราสาทภูเพ็ก ที่จังหวัดสกลนคร และปราสาทสะด๊อกก๊อกธม ที่สระแก้ว
  • ปราสาทพนม รุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพซ้ายมือ) มีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดประตู 15 ช่อง เช้าวันที่ 4 เมษายน 
  • แต่ปราสาทภูเพ็ก (ภาพขวามือ) จังหวัดสกลนคร มีปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางประตู เช้าวันที่ 21 มีนาคม และ "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) 23 กันยายน  
  • ตามหลัก วิชาดาราศาสตร์มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การเคลื่อนที่ถดถอยของวิษุวัต" (Precession of vernal equinox) เนื่องมาจากการแกว่งของแกนโลก (Earth's shift) 
  • เป็นผลให้วันวิษุวัต (vernal equinox) กับราศีเมษ (zodiac Aries) แยกตัวออกจากกัน แต่เมื่อครั้งอดีตระหว่าง 2220 BC - 60 BC "ราศีเมษ" กับ "วสันตวิษุวัต" อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน 
  • ดังนั้นเมื่อมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจและเข้ามามีอิทธิพลในภาคอีสานราวๆ 1100 AD ราศีเมษ ได้แยกตัวออกไปอยู่ที่มุมกวาด 84.5 องศา (Azimuth 84.5) 
  • ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ "ท่านพราหมณ์" ในราชสำนักอาณาจักรขอม จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง "ราศีเมษ" กับ "วสันตวิษุวัต" 
  • เราๆท่านๆอาจใช้คำพูดว่ารักพี่ก็เสียดายน้อง แต่ก็จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังผลให้ปราสาทขอมส่วนใหญ่ในเมืองหลวงนครอังกอร์เลือกเอา "วสันตวิษุวัต" ส่วนปราสาทขอมในประเทศไทยส่วนใหญ่เลือกเอา "ราศีเมษ"

  • จากการเก็บ ตัวอย่างปราสาทขอมจำนวน 85 แห่ง ในประเทศไทยและกัมพูชา พบว่าปราสาทส่วนใหญ่ในประเทศไทย (41%) หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" (Aries) และ 35% หันหน้าเข้าหา "วสันตวิษุวัต" (Equinox) และอีก 24% หันหน้าเข้าหานครหลวงอังกอร์  (Royal Angkor) 
  • แต่ปราสาทส่วนใหญ่ที่นครหลวงอังกอร์ 78% หันหน้า Equinox เพียงส่วนน้อย 11% หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" อย่างไรก็ตามในภาพรวมทั้งสองประเทศปราสาทส่วนใหญ่ยังคงยึดหลักหันหน้าเข้าหา Equinox 

  • ตัวอย่าง โบราณสถานที่เมืองเก่าสุโขทัยซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อที่รับมรดกมาจาก อาณาจักรขอม มีทั้งหันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ"  (Aries) และหันหน้าเข้าหา "วสัตวิษุวัต" (Equinox) เช่น วัดมหาธาตุหันหน้าเข้าหา Aries วัดพระพายหลวงหันหน้าเข้าหา Equinox ขณะที่วัดศรีสวายหันหน้าไปทางนครหลวงอังกอร์
  • ไดอะแกรม แสดงการเคลื่อนที่ถดถอยของวสัตวิษุวัต แสดงให้เห็นว่า Zodiac Aries กับ vernal equinox อยู่ตรงกันในช่วง 2220 BC - 60 BC แต่ปัจจุบัน vernal equinox เปลี่ยนมาตรงกับ Zodiac Pisces ระหว่างช่วง 60 BC - 2100 AD 
  • ในช่วงเวลา ที่สร้าง "ปราสาทพนมรุ้ง" วสันตวิษุวัต อยู่ในราศีมีน (Zodiac Pisces) สัญลักษณ์เป็นรูปปลาคู่ ไม่ถูกสะเป็กของท่านพราหมณ์ผู้ออกแบบปราสาทหลังนี้ เพราะท่านพราหมณ์ตัดสินใจเลือก "ราศีเมษ" เป็นเป้าสำคัญมากกว่าปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต"  
  • ท่านพราหมณ์ ผู้ออกแบบก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งเลือกที่จะหันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" จึงต้องออกแบบให้ปราสาทหลังนี้ ทำมุมกวาดจากทิศเหนือ 84.5 องศา (Azimuth 84.5) 
  • อย่างไรก็ตามถ้าอาณาจักรขอมฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ในยุคปัจจุบัน ท่านพราหมณ์คงต้องเปลี่ยนให้ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปที่ "ราศีเมษ" ณ ตำแหน่งมุมกวาด 78 องศา (Azimuth 78) 
  • แต่ถ้าท่านพราหมณ์อยากจะให้ปราสาทของท่านตรงกับ "ราศีเมษ และวสันตวิษุวัต" ก็ต้องรอไปอีก "สองหมื่นกว่าปี" 

  • ในทางดาราศาสตร์เมื่อราวพันกว่าปีที่แล้ว ดวงอาทิตย์ในราศีเมษอยู่ที่ตำแหน่ง มุมกวาด 84.5 องศา จากทิศเหนือ แต่ปัจจุบันตำแหน่งดวงอาทิตย์ในราศีเมษเปลี่ยนไปเป็นแถวๆ มุมกวาด 78 องศา 
  • เนื่องจากสาเหตุการแกว่งของแกนโลก ทำให้ตำแหน่งจักรราศีเปลี่ยนไปในลักษณะ เคลื่อน ที่ถอยหลัง ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า “ การเคลื่อนที่ถดถอยของจักรราศี ” (Precession of vernal equinox) 
  • ดังนั้น ถ้าจะสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นใหม่ในปัจจุบัน และยังคงต้องการให้หันหน้าเข้า หาดวงอาทิตย์ในราศีเมษเหมือนเดิม ต้องวางผังแปลนให้หันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น 
  • โดยอยู่ที่มุมกวาดแถวๆ 78 องศา จากทิศเหนือ (Azimuth 78) แต่ถ้ายังคงยืนยันจะให้หันหน้าด้วยมุมกวาด 84.5 องศา เหมือนของเดิมในยุคขอมเรืองอำนาจ 
  • ท่านจะต้องรออีกประมาณ 25 ,000 ปี ให้แกนของโลกหมุนกลับมาที่เดิม เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นกับสิ่งก่อสร้างของชาวอียิปส์มาแล้ว 
  • ทำให้กษัตริย์องค์ใหม่ในยุคพันกว่าปีต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนแบบแปลนวิหาร เสียใหม่ เพื่อให้ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันสำคัญทางศาสนา
  • ดัง นั้น ท่านที่ไปชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น หรือดวงอาทิตย์ตก ผ่านช่องประตู 15 ช่องที่ปราสาทพนมรุ้ง ก็ให้นึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อทางศาสนา 
  • ที่เอาข้อมูลทางดาราศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดวันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ทราบว่าบรรพชนเหล่านั้นจะรู้หรือไม่ อีกพันปีข้างหน้าพวกเขาต้องฟื้นขึ้นมาใหม่ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งปราสาทให้ตรง กับราศีเมษ 
  • อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สร้างความอึดอัดใจ ระหว่างนักดาราศาสตร์กับนัก โหราศาสตร์ เพราะฝ่ายแรกรู้ดีว่าจักรราศีเปลี่ยนไปทุกๆ  2 ,160 ปี ต่อ 1 ราศี และจะหมุนกลับมาครบรอบ 12 ราศี ใช้เวลา เกือบ 26,000 ปี 
  • ทำให้ราศีเมษ ไม่ได้ตรงกับวันวสันตวิษุวัต (Vernal equinox) หรือวันที่ 21 มีนาคม อีกต่อไปแล้ว 
  • แต่ปัจจุบันวันวสันตวิษุวัต อยู่ระหว่างช่วงต่อของ “ ราศีมีน ” กับ “ ราศีคนแบกหม้อน้ำ ” จึงมีการแต่งเพลง Aquarius ขึ้นมาร้องกันทั่วประเทศอเมริกา 
  • แต่ทางฝ่ายท่านโหราจารย์ฝรั่งยังยึดตำราเล่มเดิมเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ถือว่าจุดเริ่มต้นของราศีเมษ (First point of Aries) ยังคงเป็นวันที่ 21 มีนาคม 
  • ส่วนท่านโหราจารย์ไทยค่อยยังชั่วหน่อย ได้ปรับราศีเมษมาอยู่ที่ 15 เมษายน แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อความสมานฉันท์ทั้งสองฝ่ายจึงถือคติ “ ทางใครทางมัน ”

  • ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตู 15 ช่อง ที่ปราสาทพนมรุ้ง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2537


  • ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง

  • แสดงการแกว่งของแกนโลก ทำให้จักรราศีเคลื่อนที่ถอยหลัง (Precession of vernal equinox) กินเวลานานร่วม 26,000 ปี ต่อ 1 รอบ เหตุการณ์นี้จะทำให้ดาวเหนือของเราเปลี่ยนดวงไปเช่นกัน







  • นี่คือประตูหน้าสุดด้านทิศตะวันออก


  • พื้นประตูด้านทิศตะวันออกมีเส้น center-line ผมจึงใช้เข็มทิศวางทาบเพื่อตรวจสอบตำแหน่งทางดาราศาสตร์


  • สมัยนั้น 9 November 2004 ผมยังไม่มี GPS I-Phone จึงต้องใช้เข็มทิศแม่เหล็กไปพลางก่อน แต่ก็พอมองเห็นได้ชัดเจนว่าปราสาทหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยมุมกวาด (Azimuth) ราวๆ 84 องศา


  • ท่านที่ไปชมปราสาทพนมรุ้งตอนเช้าตรู่ของ วันที่ 4 Apri และl 9 September จะเห็นภาพโคนันทิ (พาหนะของพระศิวะ) จ้องเขม็งไปยังดวงอาทิตย์เรืองแสงที่ศิวะลึงค์


  • วันที่ 4 Nov 2004 ผมเดินทางกลับมาจากเมือง Siem Reap Cambodia ก็เลยแวะที่ปราสาทพนมรุ้ง


ทิวทัศน์อันสวยงามด้านล่างของปราสาทพนมรุ้ง


สรุป
  • หลายท่านถามผมว่าทำไมปราสาทหลังนี้ไม่ หันหน้าไปที่ตำแหน่ง "วิษุวัต" (Equinox azimuth 90) เหมือนกับปราสาทขอมจำนวนมากที่เมืองหลวง (Angkor ปัจจุบันชื่อเมือง Siem Reap) แต่กลับหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยที่มุมกวาด Azimuth 84.5 เป็นคำถามที่น่าสนใจครับ คำตอบในทัศนะส่วนตัวของผมคือ
    • 1.ผู้สร้างต้องการที่จะหันหน้าเข้าหา ตำแหน่งดวงอาทิตย์ใน "ราศีเมษ" ซึ่งเป็นสะเป็กหรือทางเลือกแห่งความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของท่านพราหมณ์ (ปุโรหิตา) ในราชสำนัก ทำนองเดียวกันกับปราสาทขอมอีกจำนวนหนึ่งได้แก่ ปราสาทพนมวัน ปราสาทบันเตยกะได และปราสาทเมืองต่ำ
    • 2.จากปรากฏการณ์เคลื่อนที่ถดถอยของจัก ราศี (Precession of vernal equinox) เนื่องจาก "แกนโลกแกว่ง" (Earth's pole shifted) ทำให้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวัน "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ย้ายถอยหลังไปอยู่ใน "ราศีมีน" แทนที่จะเป็น "ราศีเมษ" เหมือนเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว เรื่องนี้ได้สร้างความกะอักกระอ่วนใจระหว่างความเชื่อในราศีเมษ กับ วันวิษุวัต ทำให้ท่านพราหมณ์จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
    • 3.นักดาราศาสตร์กับนักโหราศาสตร์รู้ เรื่องการแกว่งของแกนโลกเป็นอย่างดีครับ แต่ก็ไม่ทะเลาะกันเพราะเข้าตำรา "ทางใคร ทางมัน" ดังนั้นราศีเมษของฝรั่งจึงยังคงอยู่ที่ equinox วันที่ 21 March แต่ราศีเมษของไทย อินเดียตอนใต้ และบังกลาเทศ จึงย้ายไปอยู่วันที่15 April เราๆท่านๆก็เลือกเอาก็แล้วกันครับ แต่ถ้าพระเดชพระคุณท่านต้องการให้ "ราศีเมษ" กลับมาตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสัตวิษุวัต" ท่านก็ต้องรออีกราวๆ "สองหมื่นกว่าปี" ครับผม 
    • 4.จากข้อมูลที่ผมสำรวจตัวอย่างปราสาทขอม 85 แห่ง ในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พบว่า 78% ของปราสาทในกัมพูชาหันหน้าเข้าหา equinox ที่มุมกวาด 90 องศา (azimuth 90) และหันหน้าเข้า "ราศีเมษ" (Aries) 11% แต่ปราสาทในประเทศไทยหันหน้าเข้าหา equinox เพียง 35% และหันหน้าเข้าหา Aries มากถึง 41% ก็แสดงว่าปราสาทขอมในประเทศไทยนิยมสร้างให้ตรงกับ Aries  มากกว่า equinox ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น ? ผมกำลังพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย 
  • แต่เท่าที่พอจะนึกได้อาจจะเป็นเพราะพวกเขาออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างไกลจาก เมืองหลวงนครอังกอร์ ทำให้ความคิดความอ่านเปลี่ยนไปเฉกเช่นศาสนาต่างๆที่มีการตั้งนิกายใหม่ๆ เป็นไปได้ว่าเจ้านายขอมที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงให้ราคา "ราศีเมษ" หรือ Aries มากกว่า equinox    








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น