วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยากเอง โจน จันได


ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยากเอง โจน จันได
  • ท่ามกลางยุคแห่งทุนนิยมที่พรั่งพร้อมไปด้วยความทันสมัย ผสมปนเปกับความวุ่นวายทางการเมือง เราได้รู้จักกับนักปราชญ์ผู้ซึ่งใช้ชีวิตสวนกระแสกับสังคมสมัยใหม่อย่างสุดขั้ว หลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ “ความบ้า” หรือวิถีชีวิตอันแปลกแยกของเขามาบ้าง แต่ในความแตกต่างนี้มีคนจำนวนไม่น้อยยกย่องเขาว่าเป็นอัจฉริยะด้านการใช้ชีวิตที่แท้จริง ….และนี่คือ “โจน จันได”
  • โจน จันได หรือที่หลายคนรู้จักเขาในนาม “โจน บ้านดิน” คนจนผู้ยิ่งใหญ่จากรายการ เจาะใจ เมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้ เขาคือผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดินของประเทศไทย โจน จันได เป็นผู้ปลุกกระแสบ้านดินให้ฟีเวอร์ในปัจจุบัน เขาเดินทางไปรอบโลกเพื่อนำเสนอแนวทางในการสร้างบ้านดิน โดยเรียนรู้ชีวิตผ่านประสบการณ์ตรงนอกระบบการศึกษา จนแตกแขนงออกเป็นเครือข่ายคนสร้างบ้านดินในทุกวันนี้
  • เดิมที โจน จันได เกือบจะได้เป็นนักกฎหมาย เมื่อครั้งจากบ้านที่ยโสธรเข้ามาร่ำเรียนศาสตร์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กรุงเทพมหานคร เขาใช้ชีวิตอยู่วัด กินข้าววัด และทำงานพิเศษเพื่อหาเงินค่าเล่าเรียนเอง 
  • แต่แล้วลูกอีสานคนนี้ ก็ตัดสินใจทิ้งอนาคตนักกฎหมาย และลาสังคมเมืองที่หลายคนหลงใหล ด้วยเหตุว่าถามหาความสุขที่แท้จริงให้ชีวิตไม่เจอ !?!
  • “คนเราจำต้องไหลไปตามกระแสส่วนใหญ่ของสังคม จริงหรือ… ทั้งที่เราไม่ชอบ เราก็จำเป็นต้องแต่งตัว เที่ยว ตามเพื่อน ๆ เพื่อป้องกันคำครหานินทางั้นหรือ..”
  • “คนเราเรียนมาก ๆ แล้วจะทำงานดี ๆ ได้เงินเยอะ ๆ จริงหรือ แล้วการมีเงินเยอะมันคือเป้าหมายของชีวิตงั้นหรือ มีเงินเยอะทำให้มีความสุขจริงหรือเปล่า และการที่เราทำงานหนัก จะทำให้ลูกเมียเรามีความสุขจริงหรือ..”
  •  โจน จันได ตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาอยู่โดยไร้ซึ่งความสะดวกความสบายทุกชนิด ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตัวเองกับธรรมชาติ 
  • โดย โจน จันได อาศัยอยู่ภายใต้หลังคาบ้านดินที่เขาสร้างเองกับมือ โดย โจน จันได ปลูกบ้านจากดินเหนียวหลังแรกจากความคิด ผสมกับที่ได้เห็นภาพการทำ บ้านดิน ในหนังสือของฝรั่ง 
  • เมื่อบ้านดินหลังแรกสำเร็จ โจน จันได ก็ทำหลังต่อ ๆ มาให้กับชุมชนแถบนั้นโดยไม่เก็บเงิน โดย โจน จันได อยู่อย่างง่าย ๆ ปลูกผักปลูกข้าวกินเอง 
  • เขาไม่มีเงินเก็บ เพราะคิดว่าเงิน เก็บไว้ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ข้าวและพืชผักปลูกไว้แล้วเลี้ยงชีวิตได้ สบายใจกว่า…

  • “ผมเคยไปอยู่กรุงเทพฯ เจ็ดปีไม่เคยกินอิ่มเลย และถามตัวเองว่า ชีวิตเราทำงานให้ใคร ผมก็เลยกลับบ้านไปเป็นชาวบ้าน 
  • แต่ผมก็ไม่ได้อยู่อย่างชาวบ้าน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกผักเพื่อขาย ยิ่งปลูกยิ่งไม่เหลืออะไร ทั้ง ๆ ที่ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ๆ 
  • แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ทำให้ชีวิตซับซ้อน จนไม่มีเวลาคิดถึงตัวเอง คิดถึงแต่งาน งาน หาเงินและใช้เงิน ทำงานหนักขนาดนี้แล้วไม่พอกิน ก็ต้องคิดแล้ว” โจน จันได กล่าว


พืชผัก ของ โจน จันได
  • ปัจจุบันนอกจากการอยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุขแล้ว โจน จันได ยังได้รับเชิญจากหลายหน่วยงานให้ไปสอนการปลูกบ้านดิน 
  • โดย โจน จันได ไม่คิดค่าใช้จ่ายสักบาท เพียงขอแต่ค่าเดินทาง เพราะอย่างที่บอกเขาไม่ใช่คนที่มีเงินมากนัก แต่กระนั้น หลังจากที่ทำงานบ้านดินมากว่า 10 ปี โจน จันได บอกว่าเขาได้ค้นพบอีกสิ่งหนึ่งที่อยากทำมาก ๆ ในตอนนี้
  • “ทำงานบ้านดินมา 10 ปี รู้สึกว่าเหนื่อย จึงอยากพัก บ้านดินทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งที่อยากทำจริงๆ ในตอนนี้ คือการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแท้ ๆ มาเพาะปลูก 
  • การเก็บเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญกว่าการทำบ้านดิน เพราะความรู้ในการทำบ้านดิน เรียนรู้ได้ง่าย ทำเมื่อไหร่ก็ได้ 
  • แต่เมล็ดพันธุ์นับวันจะหายไปจากโลกทุกวัน การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นจะหายไปจากโลก ต้องเร่งรีบเก็บรักษาไว้” โจน จันได กล่าว
  • ด้วยความคิดนี้ โจน จันได จึงจัดแจงหาซื้อที่ดินที่ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และลงมือปลูกพืชผัก ตั้งชื่อว่า “ไร่พันพรรณ” มีคนอาศัยและช่วยงานอยู่ 7-8 คน
  •  เป็นครอบครัวเล็ก ๆ เขามีลูกและภรรยาชาวอเมริกัน หญิงที่รักงานด้านเอ็นจีโอจากโคโลราโดเป็นคู่ชีวิต 
  • ที่ไร่ของ โจน จันได มักจะมีแขกแวะเวียนไปเยี่ยม ทั้งคนไทย ฝรั่ง ต่างผลัดเปลี่ยนกันมาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบสมถะในแบบของเขา

  • “ฝรั่งที่มาเรียนรู้ บางคนเป็นสถาปนิก ผู้พิพากษา นักเขียน บางคนตกงานแต่สับสนในชีวิต ไม่ชอบวิถีชีวิตแบบเดิม ไม่รู้จะไปไหน 
  • หลายคนมาก็เปลี่ยนแปลงชีวิต แต่คนไทยมาฝึกฝนเรื่องเกษตรน้อย เพราะมองว่าการเกษตรเป็นเรื่องต่ำต้อย คนที่มาเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่ชาวนาหรือเกษตรกร 
  • การเป็นเกษตรกรทำให้ผมมีเวลา ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ ผมจะไม่กลับไปทำงานแบบเดิม ตอนนี้ผมพอใจกับสิ่งที่ได้ประสบในชีวิตแล้ว และก็จะใช้ชีวิตที่เหลือให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่มีอะไรให้กังวล” โจน จันได เล่า


  • ….การเอาชนะใจตัวเอง ชนะกระแสสังคม ชนะระบบเงินตรา และใช้ชีวิตอยู่อย่างสามัญในแบบ โจน จันได ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับใครหลายคน (จริงไหม)

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น