วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พระแม่ธรณี

พระแม่ธรณี
  • คติความเชื่อเรื่อง การก้มกราบแผ่นดิน หรือ การบูชาแม่พระธรณี นั้น อยู่กับมนุษย์อุษาคเนย์มาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีแล้ว โดยเฉพาะในอินเดีย มีมาก่อนพุทธศาสนาเสียอีก ในสมัยนั้นจะนับถือผีเป็นหลัก ผีสำคัญยุคแรกๆ คือ “ผีน้ำและผีดิน” ต่อมาเรียกชื่อด้วยคำยกย่องว่า แม่พระคงคา กับ แม่พระธรณี ในขณะที่ชาวไทยสมัยโบราณบูชา แม่พระธรณี เพื่อให้แผ่นดินมีความสงบสุข และร่มเย็น เพราะเชื่อว่า แม่พระธรณี เป็นเทพผู้คุ้มครองแผ่นดิน
  • “พระแม่ธรณี” เป็นเทพมารดาแห่งโลก เพราะเป็นผู้ที่มีคุณต่อสรรพชีวิตบนโลก

ประวัติ พระแม่ธรณีบีบมวยผม
  • ชื่อ พระแม่ธรณี มีปรากฏในพุทธประวัติความว่า …เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย พญามารได้ออกอุบายต่างๆ นานา เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงเกิดกิเลสตัณหา แต่พระพุทธองค์ทรงไม่ยินดียินร้าย และในครั้งนั้นเองพระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าพญามารโดยทรงบีบมวย ผมให้น้ำไหลออกมาท่วม พวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป
  • ขณะเดียวกัน ก็มีชื่อ แม่พระธรณี ปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น นางพระธรณี พระแม่วสุนธราพสุธา ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน คือผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ อันหมายถึงแผ่นดินนั่นเอง สำหรับชาวไทยทั่วไปจะเรียกกันติดปากว่า แม่พระธรณี หรือ พระแม่ธรณี
  • การสร้างรูปเคารพของ พระแม่ธรณีบีบมวยผม สำหรับประเทศไทยเท่าที่สามารถสอบทานได้ พบตำราเก่าแก่สมัยอยุธยา บันทึกเรื่องราวการจัดสร้างนางเทพเทวาที่เป็นรูปแบบแม่ธรณีขึ้นบูชาเพื่อการ อำนวยผลทางความมั่นคงและป้องกันสิ่งเลวร้าย ตำรานี้บอกเล่าต่อกันมาว่ายังเก็บรักษาอยู่ที่ วัดคฤหบดี กรุงเทพฯ
  • ทางภาคอีสาน ก็มีวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับ แม่พระธรณี หลายอย่าง เช่น ตะกรุดหัวใจพสุธา ในสายสมเด็จลุน แห่งนครจำปาสัก แม้ในพิธีเบิกโขลนออกจับช้าง ก็ยังมีมนต์ที่กล่าวอ้างถึง แม่พระธรณี
  • ทางภาคเหนือ ก็มีพิธีกรรมเกี่ยวกับ แม่พระธรณี อยู่หลากหลาย และที่นับถือเป็นประเพณี เช่น พิธีบนนางธรณี
  • แม่พระธรณี ในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่ จะทำเป็นรูปหญิงสาว รูปร่างอวบใหญ่ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือ มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง
  • การบูชาพระแม่ธรณี ก็จะมี บทสวดพระแม่ธรณี และ คาถาพระแม่ธรณี มากมายอาจจะแตกต่างกันบ้าง
  • การบูชาแม่พระธรณี มีหลายตำรา ยกมาสัก 1 ตำรา คือ ตั้งนะโม 3 จบ ว่า พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วว่า “อิติปิโสภะคะวาสะวาอะระหัง สุคะโตสวาหะ” 3 จบ แล้วสวดต่อด้วย “ตัสสาเกษีสะโต ยะถาคงคา โสตังปะวัตตันติ มาระเสนา ปฏิฐาตุง อาสักโภนโต ปะลายิงสุปาริมานานุภาเวนะมาระ เสนาปะราชิตาทิโส ทิสัง ปะลายันติ วิทังเสนติอะเสสะโต” อย่างน้อย 3 จบ แต่ถ้าจะให้ดีต้อง 21 จบ เพราะกำลังของ แม่พระธรณี คือ 21
  • คาถาบทสวดพระแม่ธรณี นี้ใช้ได้ตามอธิษฐาน ทำน้ำมนต์แก้คุณเสนียด หรือถ้ามีศัตรูให้เขียนชื่อนำแม่ธรณีทับไว้ แล้วอธิษฐานให้อภัยต่อกัน สวดให้ครบ 7 วัน ฝ่ายตรงข้ามจะแพ้ภัยตัวเองไป ที่สำคัญต้องไม่จองเวรต่อกันครับผม

ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง โดย ราม วัชรประดิษฐ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น