วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

“พุทธทำนาย” ของแท้: ศาสนาพุทธจะล่มสลายใน “500 ปี” โดยมี “ผู้หญิง” เป็นต้นเหตุสำคัญ

“พุทธทำนาย” 

ของแท้: ศาสนาพุทธจะล่มสลายใน “500 ปี” โดยมี 

“ผู้หญิง” เป็นต้นเหตุสำคัญ



เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์กับพระนางปชาบดีโคตมี ภาพโดย Maligawage Sarlis, via Wikimedia Commons
“หมอดูเขาว่าคู่กับหมอเดา” สำนวนไทยที่มักถูกใช้เพื่อลดคุณค่าของโหราศาสตร์ ซึ่งจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อคำทำนายออกมาไม่ตรงใจ หรือเมื่อเวลาผ่านไปแล้วผลของคำทำนายไม่เกิดขึ้น แต่โหราศาสตร์ก็อยู่คู่กับคนไทยมาโดยตลอด ในฐานะที่พึงทางใจ ที่แม้ผลทำนายออกมาไม่ดีแต่ก็ล้วนมีทางแก้ ซึ่งบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จนเกินส่วนของผู้ทำนายไปด้วย
ความผูกพันของคนไทยกับคำทำนายและโหราศาสตร์ เห็นได้จากกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของคนไทยที่มักพึ่งพาหมอดูหรือผู้รู้ในด้านโหราศาสตร์ในการหาฤกษ์ยามเพื่อความเป็นสิริมงคลตั้งแต่งานบวช งานแต่ง ไปจนถึงงานตาย และในคัมภีร์ หรือบันทึกโบราณของชาวพุทธเองก็มีการกล่าวถึงคำทำนาย ซึ่งว่ากันว่าเป็นคำทำนายของพระพุทธเจ้าเอง ที่มักจะเรียกกันว่า “พุทธทำนาย”
ตั้งแต่เด็กผู้เขียนได้ยินบ่อยครั้งว่า “พระพุทธเจ้าเคยทำนายเอาไว้ว่า พระศาสนาของพระองค์จะดำรงอยู่ได้ 5 พันปี” และผู้เขียนก็เชื่อมาโดยตลอดว่า คำทำนายดังกล่าวเป็น “พุทธทำนาย” ของแท้ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เอง จนกระทั่งไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ลองตรวจสอบหาที่มาของคำทำนายดังกล่าวว่า โดยอาศัยพระไตรปิฎก แหล่งรวมพุทธพจน์ที่น่าจะมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่สิ่งที่พบไม่ได้เป็นตามความที่ผู้เขียนได้รับฟังมา กลับกันพระพุทธองค์ทรงทำนายว่า พระธรรมของพระองค์จะอยู่รอดได้เพียง “500 ปี” เท่านั้น และ “ผู้หญิง” ยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมของพระองค์อายุสั้นกว่าที่ควร
พุทธทำนายดังกล่าวปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม 7 ภาค 2 ในตอนที่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธองค์ พยายามทูลขอออกบวชหลายครั้ง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จนกระทั่งพระอานนท์โน้มน้าวให้พระพุทธองค์ทรงยอมให้พระนางปชาบดีโคตมีออกบวชได้ในที่สุด แต่ขณะเดียวกันพระองค์ตรัสว่า
“ดูก่อนอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปีเท่านั้น ดูก่อนอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อยตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย…”
หลังการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ได้มีผู้ออกมาตั้งข้อกังขาในพุทธทำนายดังกล่าวของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระเจ้ามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ที่ 1 กษัตริย์ชาวกรีกผู้นับถือศาสนาพุทธซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 4 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 5) ดังที่ปรากฏใน “มิลินทปัญหา” (เอกสารบันทึกการโต้ตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์ กับพระนาคเสน ปราชญ์ชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่าต้นฉบับน่าจะแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตในช่วงศตวรรษที่ 1 หรือศตวรรษที่ 2 [ราว พ.ศ. 544-743, หลังรัชสมัยของพระเจ้ามิลินท์นับร้อยปี] โดยนักเขียนนิรนาม ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์บาลีของพม่าด้วย) ซึ่งพระมิลินท์ทรงถามพระนาคเสนว่า
“หลังจากที่ผู้หญิงออกบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า พระธรรมอันบริสุทธิ์จะดำรงอยู่ได้เพียง 500 ปี อย่างไรก็ดีพระองค์ทรงเคยตรัสกับพระสุภัททะว่า ‘ตราบเท่าที่หมู่สงฆ์ยังคงยึดถือพระธรรมเป็นแนวปฏิบัติโดยสมบูรณ์แล้ว โลกนี้ย่อมไม่ขาดแคลนซึ่งพระอรหันต์’ คำพูดทั้งสองย่อมขัดกันเอง”
พระนาคเสนตอบกลับไปว่า คำพูดของพระพุทธองค์ทั้งสองประโยคถูกกล่าวในบริบทที่ต่างกัน หนึ่งคืออายุขัยของพระธรรมอันบริสุทธิ์ อีกหนึ่งคือแนวปฏิบัติในโลกของพระธรรม ซึ่งพระนาคเสนมองว่าต่างกัน โดยพระนาคเสนเชื่อว่า หากศิษยานุศิษย์ของพระพุทธองค์ยังคงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คำสอนของพระพุทธองค์ย่อมคงอยู่ไม่สูญหาย (แต่อาจจะไม่บริสุทธิ์แล้ว?)
ทั้งนี้ เนื้อหาในมิลินทปัญหาที่ผู้เขียนยกมานั้นเป็นฉบับภาษาอังกฤษ (The Debate of King Milinda) โดย Bhikku Pesala พระชาวอังกฤษที่ได้รับการบวชให้โดยพระชาวพม่า และเข้ามาศึกษาพระธรรมทั้งในพม่าและไทย ตำราอ้างอิงที่พระรูปนี้ใช้จึงเป็นคัมภีร์บาลีของพม่า (รวมไปถึงฉบับแปลในภาษาอื่นๆด้วย) ซึ่งบันทึกไว้ต่างจากฉบับศรีลังกา (และไทย) ที่ระบุว่า “พระสัทธรรมของตถาคตจะตั้งอยู่นานประมาณกำหนดห้าพันปี”
การที่บันทึกฝ่ายไทยไปแปลมิลินทปัญหาโดยระบุระยะเวลาเช่นนั้นถือเป็นเรื่องแปลก เพราะเนื้อหาในส่วนที่พระเจ้ามิลินท์อ้างถึงคือการบวชของผู้หญิงนั้นในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเองก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะทำให้ “สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี” ผู้เขียนจึงเชื่อว่ามิลินทปัญหาฉบับศรีลังกาและไทย น่าจะใส่เลขศูนย์เกินไปหนึ่งตัว
ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นด้วยความจงใจ ด้วยชาวพุทธมักเชื่อว่า พระพุทธองค์ทรง “ตรัสรู้” ย่อมเป็นผู้รู้ในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นอดีตปัจจุบัน และอนาคต ทำให้คำทำนายของพระองค์ต้องเป็นจริงแน่นอน การที่พระองค์ตรัสว่าพระธรรมของพระองค์จะตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี แต่พุทธศาสนากลับดำรงอยู่ได้เลยช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมทำให้ความเชื่อที่ว่าพระองค์คือผู้รู้ในทุกสรรพสิ่งสั่นคลอน
การเติมศูนย์เพิ่มเข้าไปในเอกสารชั้นรองอย่างมิลินทปัญหา ผู้บันทึกชาวไทยและศรีลังกาคงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การเติมศูนย์เพิ่มเข้าไปในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พระเถระจึงใช้ “อรรถกถา” หรือคำอธิบายเสริมพระไตรปิฎก เพื่อขยายความคำพูดของพระพุทธองค์ออกไปว่า แท้จริงที่พระองค์ตรัสว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี เพราะมาตุคามบวชแต่กลับไม่ได้เป็นดังที่พระองค์ทรงตรัส เพราะพระองค์ได้ทรงบัญญัติครุธรรมเพื่อกันความละเมิดไว้ก่อน “ทำให้พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ตลอดพันปีที่ตรัสทีแรกนั่นเอง”
นอกจากนี้อรรถกถายังอธิบายต่อไปว่า การคงอยู่ของพระสัทธรรมหนึ่งพันปีตามที่พระพุทธองค์ตรัสถึงก็ด้วยอำนาจ “พระขีณาสพผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทา” (พระอรหันต์ขั้นสูง) เท่านั้น แต่พระสัทธรรมจะยังคงอยู่ไปอีกพันปีด้วยอำนาจ “พระขีณาสพสุกขวิปัสสกะ” (พระอรหันต์ขั้นรองลงมา) อีกพันปีด้วยอำนาจ “พระอนาคามี” อีกพันปีด้วยอำนาจ “พระสกทาคามี” และอีกพันปีด้วยอำนาจ “พระโสดาบัน” ทำให้พระสัทธรรมของพระพุทธองค์จะคงอยู่ได้รวม “5,000 ปี”
ด้วยเหตุนี้จึงพอจะกล่าวได้ว่า ความเชื่อในพุทธทำนายที่ว่า พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ 5,000 ปี แท้จริงแล้วมิได้มาจากพระพุทธองค์เอง แต่เป็นการตีความพุทธพจน์ที่เกิดขึ้นภายหลัง (เนื่องจากไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้อีกต่อไป) ซึ่งมีการผลิตซ้ำในเอกสารชั้นรองว่า คำทำนายดังกล่าวเป็นของพระพุทธองค์เองเช่นในมิลินทปัญหาฉบับศรีลังกาและไทย นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า เมื่อครั้งที่คณะธรรมทูตไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่อินเดียเมื่อปี พ.ศ.2484 ได้พบศิลาจารึกในเขตมหาวิหารในสวนมฤคทายวันซึ่งได้ลงจารึกไว้ว่า โลกจะแตกหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว 5,000 ปี (ไปไกลกว่าเดิม) แต่ก็เป็นเพียงการอ้างลอยๆ ไม่มีการระบุชื่อผู้พบและผู้แปลเป็นที่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น