วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พลังจิต

บทความนี้คุณ Wanvipa Suksawat 
  • ได้นำมาลง เป็นบทความที่ดีมากและมีประโยชน์ ขออนุญาตจัดการเรื่องวรรคตอนและย่อหน้าให้ใหม่ เพื่อจะช่วยให้การทำความเข้าใจนั้นค่อยเป็นค่อยไปกับคนที่ยังใหม่อยู่
พลังจิต หมายถึง 
  • คลื่นความถี่ของพลังงานความคิด ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าบวก ไฟฟ้าลบ ที่เกิดจากต่อมไพเนียล ที่สมองตอนบน 
  • เมื่อบุคคล"คิด"ต่อมนี้ จะสร้างคลื่นความถี่ของความคิดขึ้น คลื่นนี้อาจจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ขบวนการ ทางความคิด นั้น 
  • คลื่นนี้จะลอยอยู่รอบๆ ตัวผู้คิด เมื่อคิดถึงใคร คลื่นนั้นจะพุ่งตรงไปยัง ต่อมสร้างความคิดของผู้รับนั้น ถ้าผู้รับรับคลื่นความคิดนั้นได้ จะเกิดความคิดเช่นนั้นทันที เรียกว่า เกิดการรับรู้ความคิดของผู้อื่นได้
  • บุคคลที่มีพลังจิตสูงบุคคลที่มี พลังจิต สูงคือ บุคคลที่มีสมาธิดี เช่น มีสมาธิอยู่ในขั้นกลางที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ และสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ
การทำงานของ พลังจิต
  • จิตจะทำงานได้ จิตต้องมีเครื่องมือคือ ร่างกายที่เป็นอยู่ของจิต จิตจึงแสดงผลออกมาให้เห็นได้ 
  • ส่วนของมันสมอง มีหน้าที่รับคำสั่ง ของจิตคือ ต่อมใพเนียล ซึ่งเป็นต่อมเล็กๆ สีแดงอมเทา รูปกรวย เป็นส่วนประกอบของปลายประสาท ต่อมนี้ อยู่ใน ส่วนกลางตอนบน ของมันสมอง 
  • เมื่อ ต่อมไพเนียล รับคำสั่งของจิตต่อมนี้ จะสร้างเป็นคลื่นความถี่ออกมา คลื่นความถี่ จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับความคิดนั้น และจะลอยอยู่รอบๆ ตัวผู้คิด และคลื่นความถี่นี้ จะวิ่งไปตามประสาทต่างๆ ทั่งร่างกาย เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะนั้นๆ
  • พลังงานไฟฟ้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ จะมีกระแสความถี่ต่างกัน ตามหน้าที่ของอวัยวะ และคนนั้นๆ อีกด้วย เช่น Electron และ Protron ที่ควบคุมการทำงานของ เซลล์เนื้อเยื่อของอวัยวะ ต่างๆ 
  • ทำให้มีการสร้าง และการทำลายของเซลล์ได้ตามปกติ เช่น ทำลายไป 10 เซลล์ ก็จะสร้างขึ้นมาทดแทนเช่นเดิม อวัยวะนั้นจะทำหน้าที่ได้ตามปกติ สร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ให้สูงเป็นปกติ ร่างกายจะแข็งแรงสมบูรณ์
ทำไมจึงต้องฝึกเจริญสติ?
  • สติ แปลว่า ความระลึกได้ หมายถึงความตระหนักรู้ในปัจจุบัน 
  • หลายๆ คนมีสติ แต่ก็มักจะเผลอสติอยู่บ่อยๆ เพราะเหตุสติไหลไปกับอารมณ์ และความปรุงแต่งนึกคิด หรือขาดสตินั่นเอง เมื่อขาดสติ ความคิดปรุงแต่ง ก็ครอบงำ
  • เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่ง ก็เกิดการปรุงแต่งในอารมณ์ ฉุนเฉียว หลงไหล เศร้าซึม ฟุ้งซ่าน ทะยานอยาก จนเลยเถิด สร้างทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
  • สัมปชัญญะ แปลว่าความรู้สึกตัว หลายๆ คน มีสติ แต่เป็นสติที่อ่อนแอ ไม่ตั้งมั่น เพราะขาดสัมปชัญญะคือความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวจะทำให้สติอยู่กับปัจจุบันและตั้งมั่นมากขึ้นๆ 
  • สติที่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันทุกขณะก็คือสมาธิ สมาธิที่ถึงพร้อมสติ และความรู้สึกตัว ก็ทำให้สติคมชัดในแต่ละขณะปัจจุบัน จนสามารถเห็นความจริงแท้ของโลก หรือเห็นโลกตามความเป็นจริง ตามที่มันเป็นโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือปัญญา
ทำไมจึงต้องฝึกเจริญสติ
  • ๑. คนเรามีปัญหาชีวิต ความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะขาดสติ เหตุเพราะขาดสติก็จะคิดฟุ้งซ่าน และปรุงแต่ง ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ นานา
  • ๒. เมื่อจิตใจไหลและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ก็จะเกิดความหลงผิด ความหลงผิดหรืออวิชชานี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน และความวุ่นวายต่างๆ นานัปการ
  • ๓. เมื่อมีสติก็จะเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ตื่นจากความปรุงแต่งนึกคิดในอารมณ์ทั้งหลาย ไม่หลับไหลไปกับความหวง ห่วง เยื่อใย อาลัยอาวรณ์ ไม่มีที่สิ้นสุด
  • ๔. หลายๆคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็เพราะ สติ เพราะเมื่อมีสติก็จะเกิดทั้งสมาธิและปัญญา เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา ก็จะเกิดปฏิภาณ ไหวพริบ วิสัยทัศน์ (ญาณทัสสนะ) เห็นความเป็นเหตุปัจจัย ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เกิดโยนิโสมนสิการ (การพิจารณาอย่างแยบคาย) ทำให้เข้าใจชีวิตและโลกตามความเป็นจริง
  • ๕. เมื่อมีสติก็จะรู้จักปล่อยวางและอยู่เหนือสมมติของโลก ไม่ไปสำคัญผิดมั่นหมายว่าเป็นตัวกูของกู จิตใจก็เป็นอิสระ มีได้โดยไม่เป็นทุกข์ เป็นได้โดยไม่เป็นทุกข์ อันเป็นศิลปะในการใช้ชีวิตและดำรงชีวิตอย่างมีสติ..
การมีสติในชีวิตประจำวัน
  • รู้อย่างไรว่าเรามีสติ?
  • การมีสติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่น เราต้องมารู้จักคำว่า “สติ” เมื่อมีแล้ว เกิดอะไรขึ้น เพื่อว่าเราจะได้รู้ว่าเรามีสติ หรือไม่อย่างไร 
  • ขอยกตัวอย่างในหลายๆ กรณีเพื่อให้เรารู้ว่า ในการกระทำ การพูด และการคิดของเราในชีวิตประจำวันนั้น เรามีสติในขณะนั้นหรือไม่ 
  • และจะบูรณาการสติมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร พึงพิจารณาถึงการมีสติและการพัฒนาสติดังนี้
    • ๑.สติเกิดขึ้นเมื่อมีความตั้งใจ ปกติเราคิดแต่ว่าจะมาฝึกสติที่วัด แต่หารู้ไม่ว่าเวลาที่ฝึกสติดีที่สุดก็คือ ในชีวิตประจำวัน 
      • ฝึกสติอย่างไรหรือ? ก็ฝึกสติด้วยการทำอะไร ก็ให้ตั้งใจทำให้ดี ทำงาน ก็ให้ตั้งใจทำงานให้ดี เลี้ยงดูครอบครัว ก็ตั้งใจเลี้ยงดูครอบครัวให้ดี 
      • เรามักไม่รู้หรอกว่า การฝึกสติทุกๆ วัน ในชีวิตประจำวัน ด้วยตั้งใจทำงานให้ดี ตั้งใจเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีนี้ จะทำให้มีสติที่ตั้งมั่นเสมอต้นเสมอปลาย ดีกว่าจะมาอยู่วัดวันสองวันเพื่อฝึกสติ 
      • และเมื่อเริ่มต้นจากการมีสติในการตั้งใจทำงาน เวลามาฝึกสติหรือฝึกสมาธิที่วัด ก็จะเกิดสติตั้งมั่น จิตรวมเป็นสมาธิได้ง่าย 
      • หากมัวแต่ทำงานแบบรวกๆ คิดแต่ว่า เมื่อไรจะถึงเวลาเลิกงานเสียที และทำงานไปแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ขาดความตั้งใจในการทำงานที่ดี ก็เท่ากับเป็นการฝึกทำร้ายและบั่นทอนสติของตนเอง จิตก็จะฟุ้งซ่านและหงุดหงิดได้ง่าย 
      • ฉะนั้น ผู้ที่หวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติ จึงต้องเริ่มจากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ด้วยการมีความตั้งใจในการทำงานให้ดี 
      • เพราะเมื่อมีความตั้งใจในการทำงาน ก็จะเกิดสติอยู่กับปัจจุบันในขณะทำงานทุกๆขณะ ผลของการมีสติอยู่กับปัจจุบัน ก็จะทำให้มีความสุขอยู่กับปัจจุบันในขณะทำงานด้วย ทำงานก็จะไม่หงุดหงิด แถมยังสนุกกับการทำงานด้วย 
      • เมื่อเรามีสติด้วยการตั้งใจทำงานให้ดีแล้ว ก็จะเกิดการพัฒนาสติ และเราจะรู้จักคำว่ามีสติเกิดจากความตั้งใจ ทำอะไรด้วยความตั้งใจ ทำงานด้วยความตั้งใจ เช่นนี้ ก็เท่ากับการฝึกสติไปในตัว
    • ๒.สติเกิดขึ้นเมื่อมีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบก็จะยิ่งทำให้เกิดสติคมชัดมากขึ้น เวลาพิจารณาเรื่องใดๆ ก็จะเกิดการพิจารณาโดยแยบคาย 
      • ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมที่มุ่งมาศึกษาและฝึกสมาธิวิปัสสนาที่วัด ถ้าต้องการให้การฝึกสมาธิวิปัสสนาก้าวหน้า ต้องเริ่มจากที่บ้านและที่ทำงาน ด้วยการมีความรับผิดชอบในครอบครัวให้ดี และมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานให้ดี 
      • ผู้ที่ขาดความรับผิดชอบในครอบครัวและในการงาน ตอนอยู่ที่บ้านที่ทำงาน ก็มักจะคิดถึงวัด ว่าเมื่อไร จะได้ไปวัดปฏิบัติธรรมเสียที แล้วก็ทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานแบบเร่ง ๆ รีบ ๆ เพื่อที่จะทำงานให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะได้ไปวัด 
      • แต่พอเอาเข้าจริง ๆ เวลามาวัด ก็จะคิดถึงบ้าน คือเป็นห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่บ้านบ้าง ที่ทำงานบ้าง ว่ายังทำอะไรไม่เรียบร้อย ขาดตกบกพร่อง เพราะขณะอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน ขาดความใส่ใจและความตั้งใจทำงานให้ดี สุดท้ายพอมาวัด ก็เลยกังวลฟุ้งซ่าน 
      • เพราะฉะนั้น ก่อนจะมาปฏิบัติธรรมที่วัด ควรจะต้องฝึกตนเองให้มีความรับผิดชอบในครอบครัวและการงานให้ดีเสียก่อน จึงจะไม่เกิดปลิโพธเป็นกังวลในเวลาที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด ทำให้ขาดสติ เผลอสติบ่อยๆ ในขณะปฏิบัติธรรม
    • ๓.สติเกิดขึ้นเมื่อมีความระมัดระวัง อาทิ เวลาเดินข้ามถนน การเดินด้วยความมีสติ ต้องรู้จักเดินด้วยความระมัดระวัง หากรีบร้อนเดิน ไม่ระมัดระวัง ก็จะทำให้เผลอสติ หรือ ขาดสติบ่อย ๆ และการกระทำอื่น ๆ แม้กระทั่งการพูดและการคิดก็เช่นกัน ก็ต้องมีความระมัดระวังในการกระทำ การพูด การคิด ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น 
      • ฉะนั้น ผู้ที่มีความระมัดระวังเช่นนี้ อยู่เนืองๆ ในการกระทำ การพูด การคิด ก็จะเกิดความมีสติสำรวมระวังในขณะปฏิบัติธรรม คือ เกิดการสำรวมระวังกาย วาจา และใจ ให้ทำดี พูดดี และคิดดีเสมอ
    • ๔.สติเกิดขึ้นเมื่อมีความละเอียดรอบคอบและช่างสังเกต ความรอบคอบและช่างสังเกตเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดสติละเอียด และคมชัดในการพิจารณาธรรม 
      • ผู้ปฏิบัติที่มุ่งความพ้นทุกข์หลุดพ้น จึงต้องรู้จักเป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยความ รอบคอบ ความรอบคอบและช่างสังเกต จะทำให้มีความละเอียดถี่ถ้วนในการรับรู้ และเรียนรู้สิ่งต่างๆทางโลก โดยไม่เผลอสติไปมัวเมาลุ่มหลงหรือทะยานอยากในสิ่งนั้นๆ 
      • เพราะเห็นแล้วว่าเมื่อมัวเมา ลุ่มหลงหรือทะยานอยากครั้งไร เป็นทุกข์ทุกที นอกจากนั้น ความรอบคอบและช่างสังเกต ยังทำให้เกิดการพัฒนาสติไปสู่สติสัมโพชฌงค์ คือ ความสมบูรณ์ของสติ และธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือการสอดส่องในธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ 
      • อันเป็นปัจจัยสนับหนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วนและแยบคาย อันเกิดจากการเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและช่างสังเกต ในการดำเนินชีวิตอยู่เนือง ๆ โดยไม่ประมาท
    • ๕.สติเกิดขึ้น เมื่อรู้จักใจเย็น และไม่รีบร้อน การกระทำอะไรที่เร่ง ๆ รีบ ๆ มักจะทำให้เกิดการเผลอสติได้ง่าย แต่หากเรารู้จักฝึกทำอะไรด้วยความใจเย็น และไม่รีบร้อน เราก็จะมีสติอยู่กับปัจจุบันทุกขณะ 
      • ทำให้เกิดการรู้และเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นได้ชัด คือ เกิดการรู้ชัดและเข้าใจชัดในสิ่งนั้น ๆ เป็นขณะ ๆ ทุก ๆ ขณะ 
      • อันมีความสำคัญมากในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเน้นการมีสติรู้ชัดในกาย เวทนา จิต และธรรมในแต่ละขณะปัจจุบัน การมีสติรู้ชัดในแต่ละขณะปัจจุบัน ก็จะทำให้เกิดการเห็นที่เรียกว่าญาณทัสสนะ 
      • แต่การจะมีสติรู้ชัดในกาย เวทนา จิต และธรรม ในแต่ละขณะปัจจุบัน สิ่งสำคัญมาก ก็คือ ความใจเย็น และไม่รีบร้อนในการฝึก ซึ่งผู้ปฏิบัติพึงฝึกเริ่มจากในชีวิตประจำวันด้วยการดำเนินชีวิตและการทำกิจการงานทั้งปวง ให้เป็นผู้รู้จักทำอะไรด้วยความใจเย็นและไม่รีบร้อน
    • ๖.สติเกิดขึ้นเมื่อรู้จักปล่อยวาง หัวใจของการมีสติที่สำคัญที่สุด ก็คือเป็นผู้รู้จักปล่อยวาง การฝึกสติเป็นผู้รู้จักปล่อยวางนี้ ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มหัดให้มีสติรู้จักปล่อยวางในชีวิตประจำวัน เพราะการฝึกปล่อยวางนั้น ไม่ใช่ว่าจะมาปล่อยวางในขณะมาฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน 
      • แต่ต้องเริ่มฝึกปล่อยวางไปโดยลำดับ จากสิ่งที่ง่ายๆ จนไปถึงสิ่งที่ปล่อยวางยาก การฝึกปล่อยวางนี้ จะเป็นการทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา หรือของๆเรา ไปโดยลำดับ 
      • การฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐานที่ไม่ประสบผลสำเร็จและความก้าวหน้า เพราะฝึกปฏิบัติด้วยความทะยานอยาก ความคาดหวัง อยากได้โน่น อยากได้นี่ อาทิ อยากได้สมาธิ อยากได้ฌาน อยากได้ญาณ อยากมีฤทธิ์เป็นต้น 
      • ซึ่งเป็นการวางใจในการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เราต้องรู้จักวางใจด้วยการปล่อยวาง ไม่อยากได้ ไม่อยากเอา ไม่อยากมี และไม่อยากเป็น ใด ๆ ทั้งสิ้น 
      • การฝึกสติให้เป็นผู้รู้จักปล่อยวาง จึงเป็นหัวใจของการฝึกปฏิบัติธรรม และผู้ปฏิบัติพึงฝึกสติด้วยการปล่อยวางแบบค่อยเป็นค่อยไปในชีวิตประจำวัน 
      • ในที่สุดเรื่องที่คิดว่าปล่อยวางไม่ได้ ก็จะสามารถปล่อยวางได้เอง และหากเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ปล่อยวางยาก ผู้ปฏิบัติพึงต้องรู้จักฝึกให้มีสติปล่อยวาง ด้วยการมีปัญญาเห็นโทษ เห็นภัยของความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง 
      • เพราะเมื่อเห็นโทษ เห็นภัย ก็จะเกิดการยอมรับ และเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ ตามความเป็นจริง เมื่อรู้จักยอมรับและเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ ตามที่มันเป็น ก็จะค่อยๆ เกิดการปล่อยวางในสิ่งนั้น ๆ ที่ยึดมั่นมานานได้โดยลำดับ
  • ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากผู้ปฏิบัติรู้จักคำว่ามีสติ จะมีอย่างไรในชีวิตประจำวัน อาการของสติเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีอาการอย่างไร ดังที่ได้อธิบายพอเป็นสังเขปนั้น ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้จักปรับปรุง และแก้ไขตนเองในการดำเนินชีวิตด้วยความเป็นผู้มีสติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น